ครม.คลอดมาตรการภาษีลดหย่อน 2 เท่า จูงใจบุคคลธรรมดา-นิติบุคคล บริจาคเงินสนับสนุน 5 กองทุนงานวัฒนธรรม ชี้เปิดโอกาสให้ ปชช. ร่วมส่งเสริมงานวัฒนธรรม-อนุรักษ์มรดกชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday October 27, 2015 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บริจาคเงินแก่งานวัฒนธรรมและพัฒนาการเรียนรู้ โดยมาตรการภาษีที่ ครม. เห็นชอบนั้น กำหนดให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินสนับสนุนงานวัฒนธรรมให้กับ 5 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.25582.กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ตามพ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 3.กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ.2551 4.กองทุนงานจดหมายเหตุ ตาม พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ.2556 และ 5.กองทุนโบราณคดี ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการภาษีจะมีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลักจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว ทั้งนี้การที่ วธ. สนับสนุนให้ออกมาตรการภาษีดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดความภาคภูมิในในประวัติศาสตร์และความเป็นไทย ที่สำคัญส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อสืบสานเป็นมรดกของชาติให้ลูกหลานต่อไป ทั้งนี้ การประกาศใช้มาตรการภาษี เพื่อลดหย่อนได้ 2 เท่า ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเพื่อให้เกิดแรงจูงใจแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล บริจาคเงินให้แก่ 5 กองทุน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งให้กฤษฎีกาดำเนินการต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ