กรมพัฒนาที่ดิน แนะเกษตรกรเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน - ลดการใช้ปุ๋ยเคมี

ข่าวทั่วไป Tuesday October 27, 2015 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--กรมพัฒนาที่ดิน นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข โฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของการทำเกษตร ส่วนหนึ่งก็คือ ดิน ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ การที่จะทำให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่าย ๆ คือ ตัวอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดินจะช่วยในเรื่องให้ธาตุอาหารพืช ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม กลับคืนลงสู่ดินช่วยให้ดินสามารถดูดยึดธาตุอาหารได้สูง ทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ร่วนซุย มีการถ่ายเทอากาศได้ดี การระบายน้ำได้ดี ดินสามารถอุ้มน้ำไว้ให้พืชได้ใช้สูงและเป็นเวลานาน มีจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นในดินและทำงานได้ดีขึ้น ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม ในส่วนองค์ประกอบของดินทางการเกษตรถ้าจะให้เป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม ควรมีเนื้อดินอยู่ที่ ๔๕% มีอินทรียวัตถุ ๕% มีน้ำ ๒๕% มีช่องว่างเป็นอากาศอีก ๒๕% ถ้ามีสัดส่วนอยู่เท่านี้ถือว่าเป็นดินที่มีความเหมาะสมในการทำเกษตรอย่างมาก แต่ทุกวันนี้ค่าเฉลี่ยอินทรียวัตถุในดินลดลงอย่างมากต่ำกว่า ๑% จาก ๕% ที่ควรจะเป็นแน่นอนเมื่อดินขาดอินทรียวัตถุ ก็จะมีการอัดแน่นขึ้น ช่องว่างในดินลดลงน้ำในดินก็จะลดตามด้วย การเพิ่มอินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์ใน ๓ ด้านที่ควบคู่กัน คือ เรื่องของกายภาพ เคมีและชีววิทยาในดิน ซึ่งการที่จะเพิ่มอินทรียวัตถุในทางธรรมชาติเองของเศษใบไม้คงจะไม่ทัน และยิ่งในปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้สารเคมีกันมากทำให้จุลินทรีย์ในดินลดน้อยลง อีกทั้งเกษตรกรละเลยการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินเพราะเห็นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากแต่แท้จริงแล้วสำคัญมากที่สุด ทางกรมพัฒนาที่ดินได้เน้นย้ำมาโดยตลอดถึงวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ การไถกลบตอซังพืชหลังกากรเก็บเกี่ยว การใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก การใช้ปุ๋ยพืชสดอย่างพืชตระกูลถั่ว ซึ่งพืชตระกูลถั่วจะมีปมที่รากที่สามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศ เมื่อเราไถกลบไปก็คือ ปุ๋ยไนโตรเจนที่เพิ่มเข้ามาในดิน ซึ่งพืชปุ๋ยสดจะเป็นพืชที่สามารถสลายตัวได้เร็วควบคู่กับการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.๒ ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงเกษตรกรควรจะมีการใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อรักษาจุลินทรีย์ในดิน ทั้งนี้อินทรียวัตถุมีประโยชน์อย่างมากมายเป็นเรื่องที่พี่น้องเกษตรกรต้องทำความเข้าใจ และตระหนักรู้ถึงวิธีการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้มากกว่าที่เคยเป็นเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพดินอย่างยั่งยืน และสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ติดต่อ: หมวดข่าว: ราชการ คำค้น: กรมพัฒนาที่ดิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ