สพด.แพร่ ติดอาวุธทางปัญญาเร่งพัฒนาหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านและหมอดินอาสาประจำตำบล

ข่าวทั่วไป Wednesday October 28, 2015 09:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--กรมพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินแพร่ จัดโครงการอบรมหลักสูตร "การพัฒนาหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านและหมอดินอาสาประจำตำบล ประจำปี 2559" เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนภาคการเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เน้นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การเข้าถึงแหล่งข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรต่าง ๆ รวมทั้งการแนะนำชุดตรวจสอบดินภาคสนาม (LDD Test Kit) นายสนิท อินทะชัย ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินแพร่ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ ก่อให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร กล่าวคือ ผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้น้อย ยากจน เพราะเกิดจากทรัพยากรดินเสื่อมโทรม ได้แก่ ปัญหาการจัดการดินและปุ๋ยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดการชะล้างพังทลายของดิน ดินปัญหา ต่าง ๆ เช่น ดินเค็ม ดินกรด ดินเปรี้ยวจัด ดินขาดความอุดมสมบูรณ์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง ดังนั้น สถานีพัฒนาที่ดินแพร่ จึงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร "การพัฒนาหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านและหมอดินอาสาประจำตำบล ประจำปี 2559" ขึ้น ระหว่างวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2558 ณ สถานีพัฒนาที่ดินแพร่ ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง จ.แพร่ โดยมีนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีด้านปฏิบัติการ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2558 เวลา ๐9.00 น. วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงานพัฒนาที่ดิน ในการบริหารจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) โดยเน้นการปลูกพืชใช้น้ำน้อย วิธีการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงการแนะนำชุดตรวจสอบดินภาคสนาม (LDD Test Kit) นำมาประยุกต์ใช้ในงานพัฒนาที่ดินได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มทักษะ และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างหมอดินอาสาและเจ้าหน้าที่อีกด้วย ทั้งนี้ การถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาที่ดินสู่เกษตรกรเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ของกรมพัฒนาที่ดิน จึงจำเป็นต้องมีเครือข่ายการพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกที่ร่วมกันดำเนินการด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่ดิน ซึ่งหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านและหมอดินอาสาประจำตำบลเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนให้เกษตรกรในท้องถิ่นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการผลิตทางการเกษตร เป็นผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและฟื้นฟูปรับปรุงดิน ตลอดจนอนุรักษ์พื้นที่ทำการเกษตรให้สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพและยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ