พม. เพิ่มประสิทธิภาพรวมการบริหารสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หญิงและชาย ใต้สังกัดเดียว พร้อมเร่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ประสบปัญหาทางสังคม ที่ จ.เชียงใหม่ และสุโขทัย

ข่าวทั่วไป Thursday October 29, 2015 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๒๘ ต.ค. ๕๘) เวลา ๐๗.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๗๐/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นการชั่วคราว แก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งชายและหญิงในด้านสังคม สุขภาพร่างกายและจิตใจ ความปลอดภัย กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการส่งกลับภูมิลำเนาและคืนสู่สังคม ภายใต้การดำเนินงานของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ หญิงและชาย จำนวน๘ แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รับผิดชอบสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์(ชาย) จำนวน ๔ แห่ง ได้แก่ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์(ชาย) จังหวัดปทุมธานี สถานคุ้มครองฯ(ชาย)จังหวัดสงขลา สถานคุ้มครองฯ(ชาย)จังหวัดเชียงราย และสถานคุ้มครองฯ(ชาย)จังหวัดระนอง ส่วนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) รับผิดชอบสถานคุ้มครองฯ (หญิง) จำนวน ๔ แห่ง ได้แก่ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ จังหวัดนนทบุรี สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ จังหวัดนครราชสีมา สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านสองแคว จังหวัดพิษณุโลก และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้(บ้านศรีสุราษฎร์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานด้านการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์เกิดประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว และสอดคล้องกับเป้าหมายของงานที่จะต้องปฏิบัติ จึงมีคำสั่งให้สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ และเปลี่ยนชื่อเป็นสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีเด็กหญิงวัย ๔ ขวบ อาศัยอยู่กับแม่อายุ ๔๐ ปี ที่ป่วยมีอาการ ทางจิต ถูกกระทำความรุนแรงโดยจับขังในห้องน้ำ พร้อมขู่จุดไฟเผาบ้าน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ (พมจ.เชียงใหม่) เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น ตามภารกิจของกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพสภาพจิตใจของเด็กหญิงโดยด่วน และกรณีข่าวสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวขอความช่วยเหลือครอบครัวน่าเวทนา โดยหญิงอายุ ๕๘ ปี อาชีพรับจ้างขุดดิน มีรายได้น้อย ต้องรับภาระหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว ดูแลสามีอายุ ๖๔ ปี ป่วยเป็นโรคอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตาบอดทั้ง ๒ ข้าง และลูกชายอายุ ๓๓ ปี สมองพัฒนาการช้า ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีเงินรักษาพยาบาล ที่จังหวัดสุโขทัย ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุโขทัย (พมจ.สุโขทัย) เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือ ในเบื้องต้นตามภารกิจของกระทรวงฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ