B - BIG ดัชนีเตือนภัยทางเศรษฐกิจในอนาคต

ข่าวทั่วไป Friday December 28, 2001 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--บีโอไอ
บทบาทใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จะไม่เป็นเพียงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดึงดูดการลงทุนและให้การส่งเสริมการลงทุนอีกต่อไป แต่จะมีการเพิ่มมิติในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
การเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการลงทุนของประเทศถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่บีโอไอมุ่งให้บริการแก่นักลงทุน โดยได้เริ่มให้บริการข้อมูลด้านการส่งเสริมการลงทุนและบริการของสำนักงานมาตั้งแต่ปี 2539 เริ่มด้วยเว็บไซต์ www.boi.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลัก ตามมาด้วยเว็บไซต์ www.asidnet.org ซึ่งเป็นฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสนับสนุนของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน (ดำเนินการโดยบีโอไอ)และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ บีโอไอก็ได้เปิดตัว 3 เว็บไซต์ใหม่ที่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง โดยเว็บไซต์แรกบีโอไอได้รวบรวมข้อมูลการลงทุนในภูมิภาคของประเทศไว้ใน www.investmentthailand.com ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนในแต่ละจังหวัด โดยในช่วงแรกนี้เริ่มต้นจาก 18 จังหวัด ( ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และจะครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศในปี 2547) เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งในการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนของแต่ละจังหวัดได้โดยตรง รวมทั้งยังเกิดการเชื่อมโยงทางการตลาดระหว่างจังหวัดต่างๆ และระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศทั่วโลกด้วย
นอกจากนี้ บีโอไอก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้สถานประกอบการในประเทศไทยสามารถติดต่อและคัดสรรผู้เชี่ยวชาญไปร่วมงาน โดยสามารถค้นหาได้ในเว็บไซต์ www.i-expertnet.com
แต่การจะเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการลงทุนที่มีประสิทธิภาพได้คงไม่ใช่มีเพียงแค่ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น เพราะบีโอไออยากให้มีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริงได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และยังสามารถเป็นดัชนีเตือนภัยทางเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำด้วย โครงการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจระดับสูง หรือ B - BIG (BOI Business Intelligence Group) จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสำรวจความเห็นของนักธุรกิจถึงการประกอบธุรกิจของแต่ละบริษัท ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละเดือนและในอนาคต รวมทั้งความเห็นต่อเหตุการณ์สำคัญๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว
แม้ว่า B -BIG ได้เปิดตัวครั้งแรกในงาน BOI Towards E-investment เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่ B - BIG ก็ได้สำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงขณะนี้ B - BIG มีข้อมูลจากนักธุรกิจถึงเดือนพฤศจิกายนแล้ว
การสำรวจความคิดเห็นครั้งแรกของ B - BIG เป็นการประเมินผลกระทบของเหตุการณ์สำคัญที่โลกไม่อาจลืมเลือนก็คือ การก่อวินาศกรรมที่อาคารเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อุตสาหกรรมของไทยหลายประเภทก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงขนาดมีการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า ลดปริมาณการนำเข้า และชะลอแผนการดำเนินธุรกิจออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่จากการประเมินของ B - BIG ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจในไทยพบว่า เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในครั้งนั้น นักธุรกิจส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60.5) เห็นว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีบางส่วน (ร้อยละ 32.5) มองว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้ยอดขายสินค้าในสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลางอาจลดลง
สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจจากบริษัทต่างๆ ในแต่ละเดือนที่มีการสำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจระดับสูงนั้นพบว่า สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทผู้ประกอบการอยู่ในระดับคงที่ อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมจากสถาบันการเงินคงที่ การจ้างงานและจำนวนคนงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น ความต้องการวัตถุดิบก็ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้ายังคงไม่สู้ดีนัก แต่ยอดขายสินค้ากลับเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับที่ไม่ดีนักในการสำรวจครั้งแรกเดือนกันยายน
ส่วนการประเมินภาวะทางเศรษฐกิจใน 1 - 2 เดือนข้างหน้าจากบริษัทต่างๆ พบว่า สภาพคล่องทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ การจ้างงานจะเพิ่มมากขึ้นพอสมควร ความต้องการวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ราคาสินค้าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย และยอดขายสินค้าจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก
ตารางแสดงการประเมินภาวะทางเศรษฐกิจในแต่ละเดือน (ปี 2544)
ประเด็น ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค.
1. สภาพคล่องทางการเงิน + 1.0 +.29 +.08
2. อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืม +.05 +.17 +.13
3. การจ้างงาน / จำนวนคนงาน -.24 -.34 +.13
4. ความต้องการวัตถุดิบ -.22 +.29 +.13
5. ราคาสินค้า -.63 -.73 -.64
6. ยอดขายสินค้า -.64 -.39 -.03
- 5 หมายถึงลดลงหรือแย่ลงอย่างมาก, 0 หมายถึงเท่าเดิมหรือคงที่, +5หมายถึงดีขึ้นหรือสูงขึ้นอย่างมาก
ตัวเลขจากการสำรวจของ B - BIG ในขณะนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเป็นดัชนีเตือนภัยทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะภายในระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้า ความเคลื่อนไหวของสภาพคล่องทางการเงินที่หากลดลงมาตลอดก็จะสามารถบ่งชี้ถึงความเปราะบางที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือหากเป็นส่วนของยอดขายสินค้าที่มีปริมาณลดลงตลอดก็จะเป็นสัญญาณบอกถึงกำลังซื้อที่ลดลง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมกันคิดหาวิธีในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
ในทางกลับกัน หากตัวเลขต่างๆ มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยตอกย้ำให้ทั้งนักลงทุนและประชาชนคนไทยเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ และในอนาคต คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริงหากจะมีนักธุรกิจจำนวนมากเฝ้ารอและติดตามผลสำรวจของ B - BIG เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้า--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ