กรมควบคุมโรค เตือนโรคสุกใสในฤดูหนาว หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและแยกผู้ป่วยป้องกันการแพร่เชื้อ ปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 4.5 หมื่นราย

ข่าวทั่วไป Tuesday November 3, 2015 16:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--โฟร์ พี.แอดส์ (96) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคสุกใสในช่วงฤดูหนาว ข้อมูลปี 2558พบผู้ป่วยโรคสุกใสแล้ว 4.5 หมื่นราย เสียชีวิต 1 ราย แนะควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เรือนจำ และโรงงาน เป็นต้น หากพบผู้ป่วยควรแยกออกจากผู้อื่นโดยเร็วเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ สอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2558) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสุกใสเป็นโรคที่เกิดและมีการระบาดในช่วงฤดูหนาว จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม–25 ตุลาคม 2558 พบผู้ป่วยโรคสุกใสทั่วประเทศ 45,582 ราย เสียชีวิต 1 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ 15-24 ปี (16.25%) รองลงมาคืออายุ 10-14 ปี (15.03 %) และอายุ 7-9 ปี (14.30 %) อาการของโรคสุกใส จะเริ่มด้วยด้วยไข้ต่ำๆ ต่อมามีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดงตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง แล้วเริ่มแห้งตกสะเก็ดในเวลา 5-20 วัน ผื่นอาจขึ้นในคอ ตา และในปากด้วย โดยทั่วไปโรคนี้มักไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทางสมองและปอดบวมได้ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงในคนทั่วๆ ไป แต่ในคนบางกลุ่มถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดผู้ที่กินยากดภูมิต้านทาน ทารกแรกเกิด สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า การติดต่อของโรคสุกใสนั้น มีปัจจัยสำคัญคือ การหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยเข้าไปเช่นเดียวกับไข้หวัด การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย การคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย มักเกิดในสถานที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เรือนจำ และโรงงาน เป็นต้น ดังนั้น วิธีป้องกันโรค ทำได้โดยล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้า ปิดปากปิดจมูกทุกครั้ง เวลา ไอ จาม หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากไม่คลุกคลีใกล้ชิด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ด้วยการหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าแผลจะตกสะเก็ดและแห้งไป ทั้งนี้ ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ