สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงชื่นชมพอพระราชหฤทัยทุกฉากการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ”

ข่าวทั่วไป Friday November 6, 2015 12:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--โพลีพลัส พีอาร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตร การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๘ ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ" รอบปฐมทัศน์ ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดการแสดงขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดการแสดงโขนวิจิตร นาฏศิลป์ไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี และเพื่อเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้จัดแสดงรอบปฐมทัศน์ขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปี พ.ศ.๒๕๕๘ กล่าวว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ "โขน" ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ ที่ผ่านมามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ มาเป็นปีที่ ๘ แล้ว รวม ๖ ชุดด้วยกัน ได้แก่ ชุด "ศึกพรหมาศ" (พ.ศ.๒๕๕๐ และพ.ศ.๒๕๕๒), ชุด "นางลอย" (พ.ศ.๒๕๕๓), ชุด "ศึกมัยราพณ์" (พ.ศ.๒๕๕๔), ชุด "จองถนน" (พ.ศ.๒๕๕๕), ชุด "ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์" (พ.ศ.๒๕๕๖) และ ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ" (พ.ศ.๒๕๕๗) จนประสบความสำเร็จและได้รับการเรียกร้องให้เพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดง โดยในปีนี้นับเป็นปีที่มีรอบการแสดง จำนวน ๔๔ รอบ แบ่งเป็นรอบประชาชน ๒๔ รอบ และรอบนักเรียน ๒๐ รอบ ซึ่งทุกครั้งที่มีการแสดงโขนจะมีแบบสอบถามให้ผู้ชมแสดงความคิดเห็นว่าชื่นชอบเรื่องหรือตอนใด และจะมีการประมวลเพื่อนำความขึ้น กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นจะทรงเลือกตอนจากข้อมูลแบบสอบถามด้วยความสนพระราชหฤทัย เนื่องจากพระองค์ทรงทราบตอนของรามเกียรติ์ตลอดทั้งเรื่อง โดยในปี ๒๕๕๘ ทรงเลือกการแสดงโขนชุด "ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ" ตามบทการแสดงบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง รามเกียรติ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เป็นหลัก ผสมผสานกับบทคอนเสิร์ตของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รวมทั้งเพิ่มเติมบทฉุยฉายจากบทโขนพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) มาจัดแสดง" ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเกษมสำราญและพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก และทรงรับสั่งชื่นชมว่าโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในปีนี้นั้นทำได้ดีในทุกๆ ฉาก ทั้งนักแสดง นักร้อง นักดนตรี รวมไปถึงงานฉากที่มีความวิจิตร นอกจากนั้น ยังทรงชื่นชมอีกว่ามีความคิดที่ดีในการนำศิลปะของไทยในหลายรัชกาลมารวมไว้ได้อย่างลงตัว ทั้งฉากท้องพระโรงกรุงโรมคัล ที่มีการนำกระบวนจีนในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาใช้ในครั้งนี้" ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การจัดการแสดงทุกปีที่ผ่านมาเราได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้นเป็นลำดับ จนทุกวันนี้เรียกได้ว่าเรามีแฟนพันธุ์แท้โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตัวจริง ที่ติดตามกันอย่างเหนียวแน่นมาตลอดทุกปี และในปีนี้รวมทั้งปีต่อๆ ไป เราจำเป็นต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปทุกปี ต้องขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ทีมงานทุกท่าน ทุกฝ่าย นักแสดง รวมแล้วกว่า ๘๐๐ ชีวิต ที่ช่วยสืบสานให้เกิดการแสดงที่สมบูรณ์ที่สุด สำหรับในปีนี้ เราตั้งใจสร้างสรรค์โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดง ผ่านการคัดเลือกจนได้นักแสดง ตัวเอกรุ่นใหม่ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนประจำปี ๒๕๕๗ ได้แก่ พระ (โขน) จำนวน ๕ คน, พระ (ละคร) จำนวน ๕ คน, นาง จำนวน ๕ คน, ยักษ์ จำนวน ๕ คน และ ลิง จำนวน ๕ คน รวมทั้งสิ้น ๒๖ คน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่มีเยาวชนไทยให้ความสนใจมากมายจากผู้สมัคร ๘๔๕ คน" ด้าน นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดงโขนฯ กล่าวว่า "คณะกรรมการที่จัดการแสดงครั้งนี้ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังความคิดในการสรรค์สร้างเพื่อถวายพระเกียรติองค์อัคราภิรักษ์ศิลปินที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ถวายพระราชสมัญญาแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย โดยการแสดงในปีนี้ มีทั้งหมด ๖ ตอน ด้วยกัน ได้แก่ ฉากที่ ๑ ขัดตาทัพ (ท้องพระโรงกรุงโรมคัล), ฉากที่ ๒ พลับพลาพระราม, ฉากที่ ๓ สนามรบ, ฉากที่ ๔ ข่าวศึก (ท้องพระโรงกรุงลงกา), ฉากที่ ๕ เสียพิธี และ ฉากที่ ๖ ศรพรหมาศ โดยตอนพรหมาศ นั้น เรียกได้ว่าเป็นตอนที่มีชั้นเชิงนาฏศิลป์ที่งดงาม หลายฉาก โดยเราจัดรูปแบบการแสดงตามแบบโขนหลวง โดยเพิ่มฉาก ศึกมังกรกัณฐ์ เข้าไปในตอนต้นเรื่อง รวมทั้งเพิ่มเติมบทฉุยฉาย จากบทโขนพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งบทนี้กล่าวได้ว่าไม่แพร่หลายมากนัก แต่มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง ผู้ชมจะได้เห็นกระบวนท่ารำที่ชั้นบรมครูรักษาไว้ใน กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยในปีนี้เรายังคงมุ่งเน้นให้ผู้ชมได้เต็มอิ่มจากการแสดงดังเช่นทุกปี เพื่อสานต่อเจตนาให้นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยได้อยู่บนเวทีได้อย่างภาคภูมิและทัดเทียมสากล" ในขณะที่ นายสุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก กล่าวถึงความพิเศษของฉากในครั้งนี้ว่า "ฉากที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ในครั้งนี้ คือ ท้องพระโรงกรุงโรมคัล ด้วยความที่เป็นฉากเปิดการแสดง ดังนั้น จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอารมณ์ร่วม เพื่อให้เกิดความประทับใจในครั้งแรกที่เห็น โดยฉากนี้เป็นการสร้างท้องพระโรงกรุงโรมคัลให้มีความอลังการ และแปลกตาออกไปด้วยการใช้ศิลปะทางช่างศิลป์ในแบบกระบวนจีน นอกจากนั้น ใน ฉากที่ ๓ สนามรบ ได้ชม ศึกมังกรกัณฑ์ ที่มีความอลังการจากตัวแสดงมังกรกัณฑ์ ที่มีอยู่เต็มท้องฟ้า ส่วนสิ่งที่ผู้ชมตั้งตารอคอยในปีนี้ คือ ช้างเอราวัณ ใน ฉากที่ ๖ ศรพรหมาศ ก็ได้เห็นประติมากรรม ช้างเอราวัณ ขนาดใหญ่ ความสูงกว่า ๓.๕ เมตร โดยมีการเพิ่มเติม เอ็ฟเฟ็กต์ให้มีความสมจริง สามารถขยับในอิริยาบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การชูงวง การขยับได้ทั้ง ๓ เศียร ได้อรรถรสในการชมไม่แพ้การแสดงที่ผ่านมาอย่างแน่นอน" นายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ กล่าวว่า "นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวณีย์ ให้มีการฟื้นฟูการทอ ผ้ายกทอง ของนครศรีธรรมราช อันเป็นแหล่งทอผ้ายกของราชสำนักมาแต่โบราณ แต่ได้สูญหายไปกว่า ๑๐๐ ปี โดยความสำคัญของผ้ายกทองนั้น เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะผ้าของราชสำนัก ซึ่งทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายด้วยไหมเงิน ไหมทองที่บางเบา และทออย่างประณีต มีโครงสร้างของการวางลวดลาย อันประกอบด้วยท้องผ้าและกรวยเชิง มีลักษณะแบบราชสำนัก ที่ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงในอดีต เป็นทั้งผ้านุ่งโจงและนุ่งจีบ รวมทั้งใช้ห่อคัมภีร์ในพุทธศาสนาด้วย โดยได้มีการพัฒนาฝีมือให้กับสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา โดยให้มีการจัดทำผ้าทอขึ้นมาใหม่ โดยปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า ๔๐ ชีวิต ร่วมใจทอจนได้ผ้ายกทองจำนวนหนึ่ง มาใช้สำหรับการแสดงโขนฯ ในแต่ละปี ทดแทนการสั่งผ้าเข้ามาจากต่างประเทศจากในช่วงปีแรกๆ ของการผลิตโขนพระราชทานได้เป็นอย่างดี" สำหรับบรรยากาศรอบปฐมทัศน์ เรียกได้ว่าเปี่ยมไปด้วยความสุขของประชาชนที่เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมชมการแสดง อาทิ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ฯลฯ โดยหลังสิ้นเสียงปรบมือให้กำลังใจนักแสดง ทีมคณะโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พร้อมทั้งผู้ชมในศูนย์วัฒนธรรมต่างพร้อมใจ ร้องเพลง "วันเกิด" กันอย่างกึกก้อง พร้อมกันนี้คณะทำงานโขนฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรูปนิมิตช้างเอราวัณสำริด แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๖๐ พรรษา อนึ่ง การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๘ ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ" ได้เริ่มทำการแสดงแล้ว โดยรอบประชาชน จำนวน ๒๔ รอบ รอบนักเรียน จำนวน ๒๐ รอบ รวม ๔๔ รอบ ระหว่างวันที่ ๗ พฤศจิกายน – ๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.๐๒-๒๖๒-๓๔๕๖ หรือทาง www.thaiticketmajor.com บัตรราคา ๖๒o, ๘๒o, ๑,๐๒๐ และ ๑,๕๒๐ บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา ๑๒o บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.khonperformance.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ