กทม.จัดทำโครงการส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียนมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2001 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กทม.
ที่โรงเรียนวัดดอกไม้ เขตยานนาวา วานนี้ (24 ก.ค.44) เวลา 14.00 น. ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมการวิจัยในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 3 ระยะที่ 3 และเป็นประธานปิดการอบรมฯ โดยมี นายพูลพันธ์ ไกรเสริม รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา พร้อมด้วย ผู้เข้ารับการอบรม และข้าราชการ ลูกจ้างสำนักการศึกษาร่วมพิธี
รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวว่า สำนักการศึกษาจัดทำโครงการส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2544 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีครูต้นแบบการวิจัยในชั้นเรียน และนำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์สำนักการศึกษา จำนวน 62 คน ระยะเวลาอบรม 2 วัน, ผู้บริหารและผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียนฝ่ายวิชาการ โรงเรียนละ 2 คน รวม 862 คน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 3 รุ่น ๆ ละ 1 วัน , ครูประจำศูนย์วิทยาการหรือครูสายปฏิบัติการสอน ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ โรงเรียนละ 1 คน รวม 431 คน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 3 รุ่น อบรม 3 ระยะ ๆ ละ 2 วัน ได้แก่ ระยะที่ 1 ผู้เข้าอบรมรับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วกลับไปทำการวิจัยในโรงเรียนตนเอง ระยะที่ 2 ผู้เข้าอบรมนำผลการวิจัยมาชี้แจงแนวความคิด พร้อมรับข้อเสนอแนะ ข้อบกพร่องจากวิทยากรและผู้ร่วมอบรมเพื่อกลับไปทำวิจัยเพิ่มเติม ระยะที่ 3 ผู้เข้าอบรมนำเสนอผลงานการวิจัยของตนในที่อบรม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างครูให้เป็นผู้นำทางการวิจัยในชั้นเรียนที่สามารถไปขยายผลภายในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับครั้งนี้เป็นการ อบรมครูประจำศูนย์วิทยาการหรือครูสายปฏิบัติการสอน รุ่นที่ 3 ระยะที่ 3 วันที่ 23-24 ก.ค.44 ซึ่งผู้ที่เข้ารับการอมรมเป็นครูประจำศูนย์วิทยาการหรือครูสายปฏิบัติการสอนจากโรงเรียนในกลุ่มกรุงธนเหนือและกลุ่มกรุงธนใต้ จำนวน 158 คน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน ซึ่งเจตนารมย์และหลักการที่สำคัญดังกล่าวเป็นเงื่อนไขความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้ และการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้การศึกษาจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปสังคมไทยเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศชาติ โดยครูผู้สอนจะมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเอื้อให้ผู้เรียนเรียนรู้และพัฒนาตนเองโดยต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดของครูให้เอื้อต่อการปฏิรูปการ เรียนรู้ เป็นตัวอย่างในการพัฒนาวินัยในตนเอง สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ออกแบบการจัดการเรียนรู้ และทำวิจัยในชั้นเรียนควบคู่กับการเรียนการสอน ตลอดจนนำผลการวิจัยมาพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะได้นำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ ไปพัฒนาระบบการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ รวมทั้งขอให้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้นำทางการวิจัยในชั้นเรียนและสามารถขยายผลภายในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ