ศงป.เผยกลุ่มค้าปลีก/ค้าส่งยังคงใช้บริการมากที่สุดแนะปี 44 ผู้ประกอบการต้องปรับตัว วางแผนให้เป็นระบบ

ข่าวทั่วไป Thursday January 11, 2001 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ศงป.
ศงป.เผยผลการดำเนินงานสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2543 SMEs ประเภทค้าปลีก/ค้าส่ง ยังคงมาใช้บริการขอคำปรึกษาแนะนำมากที่สุด แนะปี 44 ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว วางแผนการดำเนินธุรกิจให้เป็นระบบ และตั้งรับกับเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง
นายอานันท ไม้พุ่ม กรรมการผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ ศงป. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 รวม 14 เดือน มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 25,886 ราย วงเงินให้คำปรึกษารวมจำนวน 83,388 ล้านบาท โดยมีผู้เข้ามาใช้บริการเป็นบุคคลธรรมดาสูงเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 15,001 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 ถัดมาได้แก่ วิสาหกิจขนาดย่อม และขนาดกลาง จำนวน 10,628 ราย และ 257 ราย คิดเป็นร้อยละ 41 และ 1 ตามลำดับ
ด้านโครงสร้างวงเงินให้คำปรึกษาของผู้ใช้บริการนั้น วิสาหกิจขนาดย่อมจะมีวงเงินสูงเป็นอันดับแรก 48,888.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59 รองลงมาได้แก่ วิสาหกิจขนาดกลาง มีวงเงิน 22,160.34 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 และบุคคลธรรมดา มีวงเงิน 12,339.13 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 โดย ศงป. ให้คำปรึกษาและจบให้คำปรึกษารวม 19,108 ปัญหา (รวมส่ง คปน.) หรือ คิดเป็นร้อยละ 71 ของปัญหาทั้งหมด (ผู้ใช้บริการบางรายปรึกษามากว่า 1 ปัญหา) และอยู่ระหว่างติดตามผล 7,750 ปัญหา
กรรมการผู้อำนวยการ ศงป. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานในรอบ 14 เดือนที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs ที่เข้ามาใช้บริการ ศงป.มากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งจำนวน 3,578 ราย คิดเป็นร้อยละ 33 ของยอดรวม SMEs ที่มาปรึกษา วงเงินให้คำปรึกษา 14,822.70 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ธุรกิจผลิตและบริการ คิดเป็นร้อยละ 25 และ 18 ตามลำดับ ส่วนธุรกิจก่อสร้าง เกษตรกรรม ร้อยละ 9 สาธารณูปโภค นำเข้า-ส่งออก และอื่น ๆ ร้อยละ 2
"ตั้งแต่ ศงป.เปิดให้บริการแก่ธุรกิจ SMEs และประชาชน จะเห็นได้ว่าแทบทุกธุรกิจจะประสบปัญหาแหล่งเงินทุนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 38 ของจำนวนปัญหาทั้งหมด ส่วนปัญหา NPL คิดเป็นร้อยละ 24 ปัญหาอื่น ๆ ร้อยละ 21 และปัญหาธุรกิจ ร้อยละ 17 เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าในปี 2544 นี้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในด้านธุรกิจ ควรเร่งปรับตัวและวางแผนการดำเนินธุรกิจให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยต้องศึกษาและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และสามารถขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่พร้อมจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ของไทยให้กลับสู่สภาวะเดิม"--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ