ฟิทช์: การประมูลคลื่น 4G ทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติม โดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตปัจจุบันของ AIS ปรับตัวลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 16, 2015 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์กล่าวว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS; BBB+/AA+(tha)/Stable) ซึ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับการให้บริการ 4G ในประเทศไทย น่าจะมีความสามารถในการรองรับการลงทุนดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามความแข็งแกร่งทางการเงินของ AIS น่าจะปรับตัวลดลงทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัท ปรับตัวลดลง ราคาประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz ในประเทศไทยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 สูงกว่าที่ฟิทช์คาดไว้อย่างมาก และหากการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2558 มีการแข่งขันที่รุนแรงเหมือนการประมูลครั้งนี้ และ AIS ชนะการประมูลด้วยราคาที่สูงกว่าที่ฟิทช์คาดไว้มาก ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หากอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับสูง และเงินลงทุนเพื่อใช้ขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้หนี้สินสุทธิของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีข้างหน้า กระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) น่าจะติดลบเนื่องจากผู้ประกอบการน่าจะยังคงจ่ายเงินปันผลในระดับสูง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO-adjusted net leverage ของ AIS จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5x ในช่วงสองปีข้างหน้าจากการลงทุนในคลื่นความถี่ 1.8GHz โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2558 บริษัทมีอัตราส่วน FFO-Adjusted Net Leverage อยู่ในระดับต่ำที่ 0.8x บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN; AA+(tha)/Stable) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ AIS และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ทรู คอร์ปอชั่น จำกัด (มหาชน) (True; ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์) ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz ในราคา 4.1 หมื่นล้านบาท และ 3.98 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ เทียบกับราคาเริ่มต้นการประมูลอยู่ที่ 1.59 หมื่นล้านบาท การแข่งขันที่รุนแรงในการประมูลครั้งนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้น่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงใกล้เคียงกับการประมูลครั้งนี้ โดยผู้ประกอบการที่ไม่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz น่าจะแข่งขันในการประมูลอย่างรุนแรงเพื่อให้ได้คลื่นความถี่ดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะในสภาวะที่การให้บริการด้านข้อมูลมีความสำคัญมากขึ้นต่อผู้ประกอบการในการรักษาการเติบโตของรายได้ ฟิทช์คาดว่าคลื่นความถี่ที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรองรับการเติบโตของการใช้บริการด้านข้อมูลที่มีการเติบโตในอัตราที่สูง จากฐานผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ที่เริ่มหันมาใช้บริการด้านข้อมูลมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าปริมาณการใช้ข้อมูลจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการน่าจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในการสร้างรายได้จากการเติบโตของการปริมาณการใช้งานดังกล่าว เนื่องผู้ประกอบการยังคงเสนอแพ็คเกจการใช้งานด้านข้อมูลอย่างไม่จำกัด (Unlimited data package) ฟิทช์คาดว่า AIS น่าจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นจากการมีคลื่นความถี่มากขึ้น และทำให้บริษัทสามารถเปิดให้บริการ 4G ได้ ในช่วงที่ผ่านมา AIS มีความล่าช้าในการเปิดให้บริการใหม่ๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เนื่องจากบริษัทมีคลื่นความถี่ในจำนวนที่จำกัด โดยบริษัทมีคลื่นความถี่ 2.1GHz จำนวนเพียง 15MHz ซึ่งเกือบทั้งหมดถูกใช้ในการให้บริการ 3G ทำให้ไม่มีคลื่นความถี่เหลือสำหรับการเปิดให้บริการ 4G บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ( DTAC; BBB/AA(tha)/Stable) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอันดับสอง ครอบครองคลื่นความถี่มากที่สุดจำนวน 50MHz ในขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ True มีคลื่นความถี่ 30MHz (รวมคลื่นความถี่ 850MHz ซึ่งเช่าจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)) โดยบริษัททั้งสองได้เปิดให้บริการ 4G ในพื้นที่จำกัดแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ