ปภ.แนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากการขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในบ่อลึก

ข่าวทั่วไป Tuesday November 17, 2015 17:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอันตรายจากการขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในบ่อลึก โดยตรวจสอบก๊าซพิษและปริมาณออกซิเจนภายในบ่อ ระบายหรือถ่ายเทอากาศภายในบ่อ ตรวจตราอุปกรณ์ในการทำงานและอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เลือกใช้อุปกรณ์นิรภัยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่เหมาะสม รวมถึงจัดให้มีคนเฝ้าระวังบริเวณปากทางเข้า – ออกบ่อ และสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ที่ปฏิบัติงานได้ทันที เพื่อป้องกันอันตรายจากการขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในบ่อลึก นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประชาชนจึงขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และกักเก็บน้ำไว้ใช้ เพื่อการเกษตรแต่การดูแลรักษาบ่อน้ำบาดาลอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ลงไปซ่อมเครื่องสูบน้ำ เปลี่ยนสายพาน หรือขุดบ่อให้ลึกมากขึ้น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้ผู้ที่ลงไปในบ่อขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ เนื่องจากในบ่อไม่มีออกซิเจน หรือมีก๊าซพิษที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์สะสมบริเวณก้นบ่อ อาทิ ก๊าซไข่เน่า ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากการขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในบ่อลึก ดังนี้ หากบ่อลึกเกิน 5 เมตร ไม่ควรลงไปในบ่อด้วยตนเอง กรณีจำเป็นต้องลงไปในบ่อ ควรตรวจสอบก๊าซพิษในบ่อ โดยใช้เทียนไขหย่อนลงไปในบ่อ ถ้าเทียนไม่ดับแสดงว่าไม่มีก๊าซพิษ แต่หากเทียนดับ แสดงว่าในบ่อไม่มีออกซิเจน และอาจมีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายได้ ทำการระบายหรือถ่ายเทอากาศภายในบ่อ โดยใช้เครื่องอัดลมต่อสายยางลงไปถึงก้นบ่อแล้วติดเครื่องยนต์อัดอากาศ ลงไป 30 นาที จึงลงไปในบ่อได้ และระหว่างที่อยู่ในบ่อต้องติดเครื่องอัดลมเพื่อปล่อยลมลงไปตลอดเวลา หรือใช้พัดลมขนาด 16 นิ้วขึ้นไปพัดเป่าลงไปในก้นบ่อผ่านท่อผ้า สวมใส่หน้าพัดลม รวมถึงวางแผนการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยตรวจสอบอุปกรณ์ในการทำงานและอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ขณะปฏิบัติงาน ควรเลือกใช้อุปกรณ์นิรภัยและอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เข็มขัดนิรภัย สายชูชีพ เชือก รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เหมาะสม ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอากาศในบ่อเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน หากพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย ให้ขจัดหรือระบายอากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย พร้อมทั้งหยุดการทำงานชั่วคราวและออกจากบริเวณดังกล่าวโดยเร็วที่สุด จัดให้มีคนเฝ้าระวังบริเวณปากทางเข้า – ออกบ่อ และสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ที่ปฏิบัติงานได้ กรณีไม่ประสงค์ลงไปในบ่อ แต่ต้องการใช้น้ำ ควรเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 4 นิ้ว และใช้ปั๊มสูบน้ำไฟฟ้าแบบจมใต้น้ำ หากไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ครื่องปั่นไฟแทน ทั้งนี้ การปฏิบัติงาน ในสถานที่อับอากาศมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ที่ทำงานในบริเวณดังกล่าวควรเรียนรู้วิธีการทำงานอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามข้อบังคับที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายจากการขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในบ่อลึก 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ