สกศ. ปลื้มสะเต็มเพื่อเกษตรกรรม ยกรากหญ้ายั่งยืนชูประเทศมั่นคง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 18, 2015 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สะเต็มศึกษา (STEM Education) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า จากการดำเนินงานเตรียมการโครงการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ด้านการศึกษา ครั้งที่ ๗ ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ ๒๖ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ภายใต้หัวข้อ STEM Education : Learning Culture of 21 C Workforce ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยมีหัวข้อหลักคือ การนำเสนอแนวคิดสะเต็มศึกษาในการพัฒนาประเทศ และได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศทั้งจากสหรัฐ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน มาร่วมให้ความรู้เพื่อยกระดับความรู้ด้านสะเต็มศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้แนวทางสะเต็มศึกษา เพื่อยกระดับการศึกษาของชาติ จึงได้ผนวกยุทธศาสตร์ด้านสะเต็มศึกษาอย่างสอดคล้องในการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐ - ๒๕๗๔) โดยทาง สกศ. อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ขณะนี้ จะได้นำหลักคิดสะเต็มศึกษา เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ และทักษะในการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน รวมถึงควรมีการปรับ เปลี่ยน และพัฒนาระบบการศึกษา รองรับสู่การรวมตัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไปเป็นรากฐานสู่การผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้เติบโตสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพในระดับสากล เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีแนวคิดวางจุดเน้นสะเต็มศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะของคนในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นโลกยุคดิจิตอลที่ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรม ความเข้าใจบนวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ความร่วมมือทำงานเป็นทีม มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์และสื่อเทคโนโลยี และมีทักษะการเรียนรู้และอาชีพ เป็นต้น และจะได้นำแนวคิดสะเต็มมาสร้างความเชื่อมโยงกับพื้นฐานเดิมของประเทศไทยคือ สังคมเกษตรกรรม ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่บนทุนเดิมของชาติอาจเรียกว่า สะเต็มเพื่อเกษตรกรรมที่จะใช้หลักคิดสะเต็มเพื่อยกระดับการทำเกษตรกรรม จัดระบบ และส่งเสริมให้พืขผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่พัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมด้านเกษตรกรรมด้วยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในอีก ๑๒ - ๑๕ ปี ข้างหน้าตามแผน การศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๑๕ ปี นับเป็นการสร้างคนไทยรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะ รอบรู้ เข้าใจลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ ความเป็นไทยอย่างกลมกลืน "สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หวังว่าจะได้ผลักดันยุทธศาสตร์และหลักคิดสะเต็มศึกษา ที่มีความชัดเจน เข้มข้น และขับเคลื่อนถึงที่สุดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ถือเป็นความท้าทายใหม่ของประเทศไทยที่จะใช้สะเต็มศึกษายกระดับภาคเกษตรกรรมที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศต่อไป" ดร.กมล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ