DTAC จัดโครงการสำนึกรักบ้านเกิด คือ…สายใยแห่งความดีงาม คือพืชพันธุ์ของแผ่นดิน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 30, 2001 10:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
คงได้เห็นกันไปบ้างแล้วกับภาพยนตร์โฆษณาซึ้งๆ ที่มีลุงผู้ใหญ่ หน้าตาใจดีนั่งอ่านจดหมายให้ชาวบ้านในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งฟัง ภาพของคุณตาคุณยาย และ ลูกหลานในหมู่บ้านต่างมากันพร้อมหน้า เพื่อฟังข่าวอันน่ายินดี ด้วยประกายตาแห่งความหวังว่าอีกไม่นานลูกหลานของพวกเขาที่จากบ้านไปไกลเพื่อเล่าเรียนจะได้ กลับมายังแผ่นดินเกิด พร้อมกับนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียน มาช่วยพัฒนาชุมชนอันเป็นที่รักของเขา…. และวันนี้สายใย แห่งความดีงามก็ได้ถูกหว่าน เมล็ดลงไปทั่วทุกพื้นที่ ประเทศไทยและกำลังเจริญเติบโตงอกงาม เพื่ออีกไม่ ช้านานจะได้เติบใหญ่เป็นร่มเงาเป็นที่พักพิง และสร้างความเจริญให้แก่บ้านเกิดของพวกเขา…
คุณอาจสงสัยว่าแล้วโครงการนี้มันเกี่ยวอะไรกับคุณไหม เกี่ยวแน่ถ้าคุณเป็นคนไทย ถ้าคุณมีลูกหลานมีเพื่อน มีพี่น้อง หรือ แม้แต่ตัวคุณเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่จังหวัดไหน อำเภอไหน ตำบลใด คุณมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมโครงการนี้ เพราะโอกาสนี้เปิดขึ้นสำหรับเยาวชน ไทยทุกคน ที่มีความตั้งใจจริงที่จะศึกษาเล่าเรียน เพื่อกลับมาพัฒนาบ้านเกิด หรือพร้อมที่ จะร่วมสร้างสำนึกรักบ้านเกิดกับพวกเรา เราจะ ขอเป็นผู้เริ่มต้น และ สนับสนุน ส่วนคุณเป็นผู้สานต่อ เริ่มจากจุดเล็กๆ ในวันนี้ และ ช่วยกันขยายให้กว้างขึ้น มาช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามนี้ด้วยกัน
รู้จักกับโครงการนี้กันก่อน ..........................................................................
โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิยูคอม มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด และกระทรวงศึกษาธิการเป็นโครงการที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการศึกษาอย่างต่อเนื่องแก่เยาวชน ทุกจังหวัด ตั้งแต่ ม.1 จนจบปริญญาตรี โดยเยาวชน ทุกคนที่อยู่ในโครงการจะ มีกิจกรรมเพื่อเสริมรายได้ในระหว่างที่ได้รับทุน โดยใช้เงิน 10% ของทุนการศึกษาที่ได้รับ ซึ่ง กิจกรรมที่ทำนั้นจะเหมาะสมกับวัย เป็นประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับบ้านเกิดของเยาวชน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยสนับสนุนโครงการให้ดำเนินไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และยังเป็นการเชื่อมความสามัคคีให้แก่เยาวชนที่ร่วมโครงการเดียวกันอีกด้วย เช่น โครงการเข้าค่ายฝึกอบรมผู้นำชุมชน โครงการพี่เยี่ยมน้อง โครงการจดหมายเชื่อมโยง ฯลฯ (รายละเอียดเพิ่มเติมหน้า 2) โดยในปีแรกของการให้ทุน (ปีการศึกษา 2541) ทางโครงการฯได้มอบทุนให้กับนักเรียน 6 ระดับชั้น ตั้งแต่ ม.1- ม.6 และ ปวช. ระดับชั้นละ 76 คน จาก 76 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 456 คน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โครงการฯได้ดำเนินการมอบทุนให้แก่นักเรียนชั้น ม.1 ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 76 คน จาก 76 จังหวัด อย่างต่อเนื่อง และเมื่อถึงปี 2546 เยาวชนในโครงการฯ ก็จะจบปริญญาตรีเป็นรุ่นแรก
คุณสมบัติของเยาวชนที่จะเข้าร่วมโครงการ
1. มีศักยภาพทางการศึกษา
2. มีความประพฤติดี
3. มีความตั้งใจที่จะศึกษาในชั้นวิชาชีพสูงสุด หรือ ปริญญาตรี
4. สามารถพึ่งพา และช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง
5. มีสุขภาพแข็งแรง
กิจกรรมสนับสนุนโครงการ
1. โครงการเข้าค่ายฝึกอบรมผู้นำชุมชนในช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ของแต่ละปี เยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิด ทุกคนจะเข้าค่ายฝึกอบรมสัมมนาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับความรู้ และพัฒนาความคิดในการมีส่วนร่วมกับสังคม ฝึกฝนให้เยาวชนเรียนรู้ถึงการเป็นผู้นำทั้งยัง ส่งเสริมความสามัคคี สร้างความรัก ความผูกพัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนการพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ ประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเกิดของเยาวชน
2. โครงการ จุลสาร "พืชพันธุ์ของแผ่นดิน" เป็นสื่อสิ่งพิมพ์สานสัมพันธ์เยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน ที่มุ่งหวังให้เป็นสื่อเชื่อมโยงเยาวชนทั้ง 76 จังหวัด เข้าด้วยกัน โดยจะเน้นในเรื่องข่าวคราวความเคลื่อนไหวของเยาวชนในโครงการ และเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงความสามารถในเชิงข้อเขียน รวมทั้งฝากข่าวถึงเพื่อนเยาวชน
3. โครงการพี่เยี่ยมน้อง เป็นกิจกรรมการเดินทางไปพบปะพูดคุย และดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเยาวชนในโครงการ โดยจะสุ่มเยี่ยมเยียนเยาวชนปีละ 3-4 จังหวัด ตามความเหมาะสม
4. โครงการประชุมผู้นำเยาวชนในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2 โครงการสำนึกรักบ้านเกิด จะจัดประชุมตัวแทนเยาวชน ซึ่งได้รับการคัดเลือกในช่วงการเข้าค่ายใหญ่ เพื่อหารือถึงปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการเชื่อมโยงเยาวชน เพื่อฝึกฝนภาวะการเป็นผู้นำ และ ส่งเสริมให้ตัวแทนเยาวชนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และแก้ไขปัญหาต่างๆ
5. โครงการจดหมายเชื่อมโยง เป็นการเชื่อมโยงเยาวชนในโครงการโดยเยาวชนจะเขียนจดหมายหากันตามลำดับการเชื่อมโยง ภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบของจังหวัดสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนในโครงการฯ พร้อมๆไปกับฝึกความรับผิดชอบ ตลอดจนสร้างความรัก ความสามัคคี และ ผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่เยาวชน
6. โครงการเชื่อมโยงเยาวชนทางอินเตอร์เน็ต เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต และเพิ่มช่องทางการเชื่อมโยงเยาวชน ซึ่งเยาวชนสามารถใช้ ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้อย่างมากมาย อาทิ เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสาร แจ้งข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่างๆทั้งของตัวเยาวชนและชุมชนที่อาศัยอยู่ ทำการค้าออนไลน์ (E-Commerce) ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยว
7. โครงการเยาวชนร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดเป็นการฝึกฝนให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกที่ดีต่อชุมชน พร้อมที่จะแสดงออกซึ่งน้ำใจ และความโอบอ้อมอารี รวมทั้งสร้างความ เป็นผู้นำ และมีส่วนร่วมในการดูแลชุมชน ผ่านการรายงานเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในชุมชนทางเครือข่ายวิทยุ "ร่วมด้วยช่วยกัน"
อยากขอรับทุน ต้องทำอย่างไร
1. ขอใบสมัครขอรับทุนโครงการฯ ได้ที่โรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการทุกแห่งทั่วประเทศ
2. กรอกใบสมัครให้ครบทุกข้อ
3. เขียนเรียงความเสนอว่า จะทำกิจกรรมอะไรเพื่อเป็นการเสริมรายได้ ซึ่งกิจกรรมนั้นจะต้องมีประโยชน์ เกี่ยวข้องและสามารถพัฒนา บ้านเกิดได้ และที่สำคัญกิจกรรมนั้นต้องสามารถทำได้จริง โดยใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10% ของทุนที่ได้รับ
4. หลักฐานที่ต้องแนบมาพร้อมใบสมัคร - สำเนาบัตรประชาชน (ถ้ามี)- สำเนาทะเบียนบ้าน - สำเนาใบรายงานผลการเรียนย้อนหลัง 4 เทอมติดต่อกัน - รูปถ่าย ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 ใบ (ติดในใบสมัคร 1 ใบ) - หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน
5.ส่งใบสมัครพร้อมเอกสารที่ผู้อำนวยการโรงเรียน
ขั้นตอนคัดเลือกผู้รับทุนทำอย่างไร
1. นักเรียนส่งใบสมัครที่โรงเรียน
2. โรงเรียนคัดเลือกนักเรียนให้เหลือ ชาย 1 คน หญิง 1 คน และส่งใบสมัครของนักเรียนทั้ง 2 คน ให้คณะกรรมการคัดเลือกประจำจังหวัด 3. คณะกรรมการคัดเลือกประจำจังหวัด คัดเลือกนักเรียน และส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับทุนไปที่กระทรวงศึกษาธิการ
4. กระทรวงศึกษาธิการส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับทุนทั้งหมดให้มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด
ใครคือ คณะกรรมการคัดเลือก
1. ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ปรึกษาคณะกรรมการ
2. ศึกษาธิการจังหวัด ประธานคณะกรรมการ
3. ผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด กรรมการ
4. ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัด กรรมการ
5. ประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด กรรมการ
6. ประธานชมรมการศึกษาเอกชนจังหวัด กรรมการ
7. ประธานชมรมเทศบาล กรรมการ
8. ตัวแทนของมูลนิธิยูคอมหรือผู้แทน กรรมการ
9. ผู้ทรงคุณวุฒิของจังหวัด 2 คน กรรมการ
10. หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมพลานามัยและกิจการพิเศษ กรรมการและเลขานุการ
11. เจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
1. ต้องเรียนในสถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชน
2. ระดับ ม.1- ม.6 และ ปวช. ต้องเรียนภายในจังหวัดของตนเอง
3. ระดับอนุปริญญาตรี และปริญญาตรีจะเรียนที่ไหนก็ได้
4. ผลการเรียนเฉพาะชั้น ม.1 เกรดเฉลี่ยทั้งปีต้องไปต่ำกว่า 2.2 ผลการเรียนของชั้นอื่นๆ หรือชั้นต่อไปต้องไม่ต่ำกว่าภาคเรียนละ 2.5
5. ต้องรายงานผลการเรียนทุกภาคให้ทางมูลนิธิทราบ
6. ต้องรายงานความคืบหน้าของกิจกรรมเสริมรายได้มายังมูลนิธิทุกเดือน
7. มูลนิธิมีสิทธิ์ยกเลิกการให้ทุนสนับสนุนการศึกษา หากเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไงที่กำหนด
ทุนสนับสนุน
ม.1- ม.3 ทุนละ 3,000 บาท
ม.4 - ม.6 และ
ปวช. ทุนละ 4,000 บาท
ปวส.,
อนุปริญญา และปริญญาตรี ทุนละ 17,000 บาท
วิธีการเบิกจ่ายทุน
1. มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด จะโอนเงินทุนให้เยาวชนในโครงการปีการศึกษาละ 1 ครั้ง
2. ให้นักเรียนเปิดบัญชีกับธนาคารหนึ่งธนาคารใดดังต่อไปนี้ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่สาขาใกล้บ้าน หรือสาขาที่สะดวก โดยจะเป็นการเปิดบัญชีร่วมกันระหว่างนักเรียนกับอาจารย์
3. นักเรียนที่ได้รับทุนสนับสนุน จะต้องรายงานผลการเรียน และกิจกรรมเสริมรายได้ รวมทั้งรายงานค่าใช้จ่ายมายังมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด 4. ถ้านักเรียนไม่ส่งรายงานตามข้อ 3. ทางมูลนิธิจะไม่โอนเงินของปีการศึกษาต่อไปให้กับนักเรียน
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด"ผมหวังว่า พี่น้องเราจะเป็นเมล็ดพันธุ์พืชแห่งความดีงาม ไม่ว่าจะถูกเพาะอยู่ที่ไหนก็จะงอกงาม ขึ้นมาสร้างความดีงามให้กับชาติบ้านเมืองโดยเฉพาะถ้าได้เติบโตในพื้นแผ่นดินเกิดที่คุ้นเคยก็เหมือนได้ปุ๋ยที่ช่วยให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเจริญเติบโตเต็มที่กลายเป็นดอกผลแห่งความดีของคนรุ่นใหม่ ซึ่งวันนี้เรา ได้เริ่มต้น ที่หลักร้อย แต่วันต่อๆ ไปพี่น้องเราจะ ค่อยๆ ขยายเป็นพัน เป็นหมื่น เพื่อร่วมรับผิดชอบ ต่อแผ่นดินเกิดของเรา"--จบ--
-สส-

แท็ก ภาพยนตร์   DTAC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ