รับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 25, 2000 08:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--สนง.ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 บัญญัติว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกรุะจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ การดำเนินการต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มาตรา 6 บัญญัติว่า ให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า กสช. ดังนั้น คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 จะรับสมัครบุคคลเพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและสมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) จำนวนสิบสี่คน เสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ผู้สมัครต้องเป็นผู้ที่มีผลงานหรือเคยปฎิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน หรือกิจการท้องถิ่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543
2. ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่อนความถี่และกำกับการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ดังนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(3) ไม่เคยเป็นกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ
(4) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(5) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
(6) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(7) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
(8) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(9) ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(10) ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(11) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(12) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(13) ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(14) ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
3. การรับสมัคร
3.1 ผู้สนใจสามารถขอรับใบสมัคร ได้ที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 โทรศัพท์2810277, 2811407 ต่อ 347 โทรสาร 2810512 เว็บไซด์ hhtp://www.pmo.thaigov.go.th (สามารถใช้สำเนาใบสมัครได้)
3.2 การยื่นใบสมัครสามารถยื่นได้ที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
3.3 ในกรณีส่งใบสมัครหรือเอกสารทางไปรษณีย์ ให้ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543
3.4 ระยะเวลาขอรับและยื่นใบสมัคร ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 เวลา 07.30 น.-19.30 น. เว้นวันหยุดราชการ
4. เอกสารและหลักฐานที่ต้องแสดงและยื่นต่อเจ้าหน้าที่
4.1 เอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นในการสมัคร
(1) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่ใส่แว่นตาดำ ขนาด 2 นิ้ว ถ่ายไม่เกิน 1 ปี (นับถึงวันสมัคร) จำนวน 2 รูป
(2) สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ/สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ
(3) สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
(4) สำเนา ก.พ. 7 (ประวัติรับราชการ) จำนวน 1 ชุด (ถ้ามี)
(5) เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี)
4.2 ผลงานหรือผลการปฎิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน หรือกิจการท้องถิ่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
5. การคัดเลือก
คณะกรรมการสรรหา กสช. จะพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและสมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็น กสช. ให้เหลือจำนวนสิบสี่คน เพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภาต่อไป--จบ--
-สว-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ