ช่วยชีวิต ไม่ยากอย่างที่คิด ด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจแบบอัตโนมัติ (AED)

ข่าวทั่วไป Monday December 7, 2015 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ภาวะที่หัวใจทำงานหนักเกินไปจนทำให้เต้นผิดปกติจนถึงขั้นหยุดทำงาน ที่เรียกกันว่า "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" นั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนส ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง สนามบิน สนามกีฬา สถานที่เหล่านี้หากมีคนเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขึ้น ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือ คือ ประชาชน เนื่องจากทีมแพทย์ต้องใช้เวลาเดินทางมายังจุดเกิดเหตุ เวลาทุกวินาทีมีค่า การจะรอให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์บางครั้งอาจสายเกินไป หลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เช่น กรณีผู้ป่วยหัวใจวายในฟิตเนส ที่เสียชีวิตลงเพราะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardio Pulmonary Resuscitation หรือ CPR) ซึ่งอาจจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นได้ก่อนถึงมือแพทย์ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้น ทำให้มีเครื่องฟื้นคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าหากมีการปฏิบัติการช่วยชีวิตที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพภายใน 4 นาที ผู้ป่วยจะมีโอกาสการรอดชีวิตสูงถึง 40% แต่หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเกิน 12 นาที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ยิ่งในปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ AED เป็นอุปกรณ์การปฐมพยาบาลเบื้องต้น บุคคลทั่วไปแม้ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์ก็สามารถใช้ได้ถ้าได้รับการฝึกฝนมา ไม่จำเป็นต้องรอผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้มากขึ้นได้อีก ในประเทศไทยเอง เครื่อง AED ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และยังมีประชาชนจำนวนน้อยมากที่เคยได้รับการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานและวิธีการใช้เครื่อง นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจเพื่อการแพทย์และการดูแลสุขภาพ กล่าวว่า "ในต่างประเทศมีการตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้มากยิ่งขึ้น จึงได้มีการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าภายนอกแบบอัตโนมัติไว้ในสถานที่สาธารณะอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ ฟิลิปส์จึงเห็นถึงความสำคัญในการรณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตลง" สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป การช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจอาจดูเป็นเรื่องยากและมักคิดว่าเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น แต่อย่างที่ทราบกันว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล หากสังเกตว่าคนใกล้ชิดมีอาการต่างๆ เหล่านี้ ควรรีบแก้ไขในทันที อาทิเช่น เจ็บ แน่น กลางหน้าอก ร้าวไปที่คอ แขน หรือขากรรไกร เหงื่อออกอย่างมากจนรู้สึกหนาว อาจเกิดขณะที่ออกกำลังกายหรือมีอารมณ์เครียดอย่างกระทันหัน คงอยู่นานราว 1-10 นาที ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและชอบอาหารมันๆ สูบบุหรี่จัด เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน คนอ้วน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เครียดง่าย เครียดบ่อย เป็นต้น คุณพอลลีน (เต็ง) ล่ำซำ หรือหมอพี ทันตแพทย์สาวคนเก่งจากโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ เป็นอีกหนึ่งท่านที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีความรู้ด้านการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย กล่าวว่า "ในสังคมไทยเอง มีคนจำนวนน้อยที่คิดจะเข้ารับการฝึกอบรม CPR และการใช้เครื่อง AED เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว สำหรับตนเองถือว่าโชคดีที่ทางโรงพยาบาลมีการจัดอบรมเป็นประจำอยู่แล้ว หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นจะได้มีความมั่นใจว่าเราสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นได้อย่างแน่นอน ถ้าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ถือว่าวางใจได้ระดับหนึ่ง แต่การช่วยชีวิตโดยบุคคลทั่วไป บางครั้งยังมีความเข้าใจที่ผิด เช่น ขึ้นไปเหยียบกระโดดๆ ที่หน้าอก เพราะคิดว่าแรงเยอะยิ่งดี ปรากฎว่าอาจทำให้กระดูกซี่โครงหักแทน ดีไม่ดีทิ่มปอดได้อีกด้วย ฉะนั้นการเรียนรู้การฝึกอบรมที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญมาก" การฝึกอบรม CPR และการใช้เครื่อง AED ไม่ยุ่งยาก เพราะเครื่องมีคุณสมบัติที่ใช้งานง่ายโดยมีระบบเสียงแนะนำขั้นตอนการใช้งาน (เสียงภาษาไทย) อย่างชัดเจน หน่วยงานที่ให้การฝึกอบรมวิธีการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลันสำหรับประชาชนทั่วไปมีหลายแห่ง อาทิ มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการคืนชีวิตทุกนาทีด้วย AED & CPR จัดโดย สมาคมการดับเพลิงและช่วยชีวิต FARA สมาพันธ์การช่วยชีวิต ดับเพลิง และกู้ภัย แห่งเอเชีย APFA การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจแบบอัตโนมัติ (AED) ถือเป็นกลไลการรักษาภายหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือการป้องกันซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่าการแก้ไข นั่นคือการดูแลรักษาหัวใจของเราและคนที่เรารัก คุณพอลลีน กล่าวปิดท้ายว่า "ส่วนตัวจะดูแลเรื่องอาหารการกินของคนที่บ้าน หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงให้ลูกจะใส่เครื่องปรุงน้อยมาก ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็จะให้ทานอาหารไขมันน้อยๆ เช่น ผัก ปลา ผลไม้ เน้นกากมากๆ ให้นอนให้พอ เครียดน้อยๆ คุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนไป สนับสนุนให้ออกกำลังกายกันเป็นประจำ และตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพียงแค่นี้เราก็จะพอมั่นใจได้ระดับนึงว่าคนใกล้ชิดเรามีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันน้อยลง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ