ใช้ 4G อย่างฉลาดและปลอดภัย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 9, 2015 08:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กสทช. นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หลังจากได้รับใบอนุญาตภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ไปแล้ว ผู้ให้บริการรายหนึ่งประกาศว่าจะเริ่มให้บริการ 4G ได้ภายในปลายเดือนธันวาคมนี้ ผู้บริโภคหลายท่านก็สงสัยว่า ใครจำเป็นต้องใช้ 4G บ้าง ถ้าจะใช้ต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากเทคโนโลยี 4G คือความเร็วในการรับส่งข้อมูลผ่านมือถือที่รวดเร็วกว่า 3G เฉลี่ยประมาณ 7-10 เท่าตัว ทำให้การรับชมวิดีโอ HD (Hi-Definition) ไม่กระตุก และระยะเวลาตอบสนองคำสั่งสั้นลง ทำให้การสื่อสารแบบ Interactive เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการโทรออกรับสายนั้นไม่ใช่จุดเด่นของบริการ 4G ผู้ที่จะได้ประโยชน์จาก 4G จึงเป็นผู้ใช้งานที่เน้นการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านมือถือนั่นเอง เช่น ผู้ที่ต้องการดูวิดีโอ HD หรือเล่นเกมส์ที่มีความละเอียดสูง แต่ถ้าใครไม่ต้องการความเร็วที่สูงมากก็ยังใช้ระบบ3G ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ท่องเว็บทั่วๆ ไป หรือผู้ที่ใช้ Social Media ที่ไม่เน้นการดูวิดีโอ สำหรับผู้ที่เน้นการโทรออกรับสายยิ่งไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ 4G อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะนำ 4G มาให้บริการควบคู่กับ 3G หรือแม้กระทั่งบริการ Wi-Fi ในซิมเดียวกัน ส่วนโทรศัพท์จะจับสัญญาณระบบใดขึ้นกับพื้นที่ใช้งาน เช่น หากอยู่ในเขตเมืองก็จะเป็น 4G หากออกนอกเมืองก็จะเป็น 3G หรือเข้าไปในห้างหรือสถานที่มีจุดบริการ Wi-Fi ก็จะเปลี่ยนไปใช้ Wi-Fi ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบบริการที่คล้ายคลึงกับซิม 3G ในปัจจุบันที่จะใช้บริการ 2G ในพื้นที่ไม่มีสัญญาณ 3G นั่นเอง หากจะตัดสินใจใช้บริการ 4G สิ่งที่ผู้บริโภคต้องมีคือ เครื่องโทรศัพท์ที่รองรับ 4G ในย่านความถี่ที่ค่ายมือถือเปิดให้บริการ ซึ่งในประเทศไทยเรามีบริการ 4G แล้วบนคลื่น 1800 MHz และ 2100 MHz นอกจากนั้นก็ต้องมีซิม4G ด้วย ดังที่ในช่วงนี้ เราจะเห็นผู้ให้บริการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้ซิม 4G อยู่บ่อยๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องดูด้วยว่า ในบริเวณที่เราใช้งานโทรศัพท์มือถือในแต่ละวัน เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน อยู่ในพื้นที่ให้บริการ 4G หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้น ต่อให้ซื้อเครื่องใหม่ มีซิมใหม่ และสมัครแพ็กเกจ 4G แล้ว เราก็จะไม่สามารถใช้ 4G ได้อยู่ดี เมื่อตัดสินใจใช้บริการแล้ว ขั้นต่อมาที่ต้องทำคือ การรู้จักเลือกโปรโมชั่นหรือแพ็กเกจให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้งานของตัวเอง เช่น ปริมาณข้อมูลที่ต้องการใช้งานในแต่ละรอบบิล และค่าบริการที่ต้องจ่าย โดยส่วนใหญ่แพ็กเกจเหมาจ่ายที่ให้ปริมาณข้อมูลจำนวนมากกว่าจะมีราคาสูงกว่า แต่เฉลี่ยแล้วค่าบริการต่อหน่วยจะถูกกว่า อย่างไรก็ดี ถ้าเราใช้ไม่หมดก็จะเสียของไปเปล่าๆ ในทางกลับกัน หากเราใช้งานเกินโควต้า ก็อาจต้องเสียเงินมากกว่าปกติ เพราะค่ายมือถือมักจะกำหนดค่าบริการส่วนเกินโควต้าในอัตราที่แพงกว่าค่าบริการปกติ การเลือกแพ็กเกจที่ตรงกับการใช้งานของเราจริงๆ จึงจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ สำหรับใครที่ใช้งานไม่มากในแต่ละรอบบิล การเลือกแพ็กเกจที่จ่ายตามปริมาณการใช้งานจริงก็เป็นทางเลือกที่ดี แม้อัตราค่าบริการต่อหน่วยจะดูสูงกว่าแพ็กเกจแบบเหมาจ่ายก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องตระหนักกันให้มากคือ การรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น หมายความว่าในเวลาที่เท่ากัน เราจะใช้ปริมาณข้อมูลมากขึ้นกว่าเดิม โดยปกติในการคำนวณการใช้งานจะรวมทั้งปริมาณข้อมูลที่รับหรือดาวน์โหลดและปริมาณข้อมูลที่ส่งหรืออัพโหลดด้วย ผลคือเราอาจต้องจ่ายค่าบริการในแต่ละรอบบิลมากกว่าเดิม แม้ค่าบริการต่อหน่วยจะถูกลงก็ตาม ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 50 ของข้อมูลที่วิ่งผ่านมือถือคือข้อมูลวิดีโอ ยิ่งถ้าเราดูวิดีโอ HDแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ปริมาณข้อมูลจะมากขึ้นกว่าการดูวิดีโอคุณภาพปกติหลายเท่าตัว และการรับส่งข้อมูลจำนวนยิ่งมากก็จะยิ่งใช้พลังงานมาก ทำให้แบตเตอรี่มือถือหมดเร็วกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจพบค่าบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ค่าบริการ 4G เนื่องจากจะมีรูปแบบธุรกิจผ่านมือถือเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น การซื้อแอพพลิเคชัน ซื้อสติกเกอร์ ซื้อไอเทมออนไลน์ต่างๆ ตลอดจนซื้อเพลง ซื้อหนังสือ ซื้อภาพยนตร์ซึ่งอาจมีวิธีจ่ายเงินหลายวิธี เช่น หักบัญชี หักบัตรเครดิต หักกระเป๋าเงินออนไลน์ แต่เริ่มมีรูปแบบการหักผ่านบิลมือถือเพิ่มขึ้น ดังนั้นการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ (Credit Limit) กับค่ายมือถือของเราจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่เจตนาหรือรู้ไม่เท่าทัน แต่ก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจตรงกันว่า วงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินรวม หรือวงเงินต่อรอบบิล หรือเป็นวงเงินที่รวมหรือไม่รวมค่าใช้จ่ายรายการใดบ้าง เมื่อถึงวงเงินที่กำหนดค่ายมือถือจะระงับบริการที่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อมิให้มีภาระค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ ในเบื้องต้นเราจึงควรกำหนดวงเงินให้พอเหมาะกับปริมาณการใช้งาน และควรเป็นวงเงินรวมเหมือนกับวงเงินบัตรเครดิต ไม่ใช่วงเงินต่อรอบบิล นอกจากเรื่องค่าบริการแล้ว ยังควรต้องระมัดระวังโทษหรือภัยที่อาจมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ได้แก่ การส่งหรือแชร์ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย เช่น ข้อมูลเท็จ ข้อมูลลามกอนาจาร ภาพตัดต่อที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือข้อมูลที่ผิดต่อความมั่นคงหรือเกี่ยวกับการก่อการร้าย เป็นต้น เพราะในปัจจุบัน มักจะมีการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลโดยไม่ได้อ่านเนื้อหาหรือรายละเอียด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องหรือความน่าเชื่อถือ ทำให้เราอาจตกเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว ในทางกลับกัน ผู้รับข้อมูลก็ต้องรู้จักแยกแยะข้อมูลที่ได้รับ ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตไม่จำเป็นที่จะถูกต้องเสมอไป หรือหลายครั้งเป็นข้อมูลเก่าที่แชร์ซ้ำไปซ้ำมาทุกปี เช่น ข้อมูลเด็กที่หายออกจากบ้านแต่ตามตัวพบแล้ว ก็ยังมีการแชร์ให้ช่วยกันตามตัวทุกๆ ปี ภัยอีกประการหนึ่ง มาจากการคบเพื่อนในโลกออนไลน์ ที่เราไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง ทำให้หลายครั้ง มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาตีสนิท โดยอาจเริ่มจากการขอเป็นเพื่อนกับเพื่อนของเราก่อน แล้วค่อยมาขอเป็นเพื่อนกับเรา ทำให้ดูเหมือนว่ามีเพื่อนร่วมกันอยู่แล้ว ดูน่าจะปลอดภัย แต่จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในโลกออนไลน์ก็คือการคบคนแปลกหน้า ซึ่งในโลกจริง เราจะระวังตัวค่อนข้างมากในการทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า และจะมีการสังเกตกิริยาท่าทางของเขา แต่ในโลกออนไลน์เรามักจะไม่รู้ตัวหรือไม่ทันระวังตัว เพราะมิจฉาชีพอาจปลอมชื่อ ปลอมรูปประจำตัว ปลอมประวัติ ให้ดูดี เพื่อจะหลอกลวงและก่อให้เกิดความเสียหายกับเหยื่อ กรณีที่เสียน้อยคือเสียเงิน แต่กรณีที่เสียมากอาจเสียชีวิตจากการคบคนที่เราไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงบนโลกออนไลน์ก็เป็นได้ นี่ยังไม่รวมภัยต่อสุขภาพจากการติดโทรศัพท์มือถือ และภัยจากการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลหรือแม้กระทั่งโจรกรรมบัญชีผู้ใช้งานของบริการต่างๆ ที่เราใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น บริการธนาคารผ่านมือถือ บริการ e-mail บริการ Social Network ต่างๆ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือ มีการตั้งรหัสหน้าจอโทรศัพท์ มีการเปลี่ยนรหัสผ่านในบัญชีผู้ใช้งานของบริการต่างๆ เป็นประจำ เพราะในอนาคต เครื่องโทรศัพท์ประจำตัวเรานั้น จะทำหน้าที่เป็นเสมือนบัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม หรือแม้แต่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมหรือใช้ทางผิดๆ ได้ เจ้าของเครื่องจึงต้องดูแลป้องกันมิให้ใครลักลอบนำโทรศัพท์มือถือของเราไปใช้โดยที่เราไม่รู้ตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ