สมาคมดาราศาสตร์ไทย แนะวิธีดูปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันอังคารที่ ๙

ข่าวทั่วไป Tuesday January 9, 2001 10:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สมาคมดาราศาสตร์ไทย
นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย แนะวิธีดูปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนวันอังคารที่ ๙ ต่อเช้าวันพุธที่ ๑๐ มกราคมนี้ เวลา ๐๒.๔๙— ๐๓.๕๑ น. จะเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มแดงสวยงามมาก ด้านกรมอุตุฯ ระบุท้องฟ้าในคืนดังกล่าวมีโอกาสที่เมฆจะปกคลุมถึงร้อยละ ๖๐ ภาคเหนือและภาคอีสานมีโอกาสที่ท้องฟ้าแจ่มใส มากกว่าภาคกลางตอนล่าง น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวแนะถึงวิธีดูปรากฎการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งจะเกิดขึ้นในคืนวันอังคารที่ ๙ ต่อเช้าวันพุธที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๔ ว่า สามารถดูปรากฎการณ์ดังกล่าวด้วยตาเปล่า ดวงจันทร์ในคืนวันนั้น เป็นพระจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ตามจันทรคติ คืนวันนั้นตรงกับคืนวันอังคารที่ ๙ ต่อเช้าวันพุธที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๔ จะเกิดปรากฎการณ์ตั้งแต่เวลา ๒๔.๐๐ น.ตำแหน่งของดวงจันทร์ จะอยู่เกือบกลางท้องฟ้า จากนั้นเวลา ๐๐.๔๓ น. แสงดวงจันทร์ที่สว่างเป็นสีนวลเพ็ญจะเริ่มสลัว และจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ค่อยๆ แหว่งไปเรื่อยๆ จนแหว่งเต็มดวงในเวลา ๐๒.๔๙ น.ดวงจันทร์จะกลายเป็นสีส้มแดง ลักษณะที่เป็นสีส้มแดงคือ ดวงจันทร์เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่ดวงจันทร์จะมืดหายไปเลย แต่จะเปลี่ยนสีจากสีเหลืองนวลหรือขาวผ่อง เป็นสีส้มแดง “จากประสบการณ์ที่เห็น จะสวยงามมาก เหมือนลูกอะไรกลมๆ ลอยอยู่บนท้องฟ้าที่มืดสนิท หลังจากที่เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว ท้องฟ้าจะมืดสนิท จะเห็นดาว และเห็นดวงจันทร์ลอยเด่นอยู่ดวงเดียวเป็นสีส้มๆ ลอยอยู่ และมีมิติเหมือนกับจะจับมันได้” น.ส.ประพีร์ กล่าว นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า เวลาที่เกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะอยู่ในช่วงเวลา ๐๒.๔๙ - ๐๓.๕๑ น. หรือ ๑ ชั่วโมง ๒ นาที ที่เห็นพระจันทร์เป็นสีส้มแดง เพราะเป็นแสงสะท้อนจากโลก ปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เกิดจากวงโคจรของดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์อยู่ในแนวระนาบเดียวกัน คือ เป็นเส้นตรงเดียวกัน เงาของโลกจะบังแสงอาทิตย์ที่จะส่องไปยังดวงจันทร์ถ้าอยากเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย จะต้องดูในปีนี้ เพราะหลังจากนี้จะต้องรออีก ๓ ปี คนไทยในประเทศ ถึงจะได้เห็นจันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้งในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗ สำหรับประเทศที่จะเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนดังกล่าว คือประเทศในแถบทวีปเอเชีย ยุโรปและอาฟริกาตะวันออก ปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ขณะนี้หลายประเทศได้เตรียมดู เพราะนับเป็นการต้อนรับศตวรรษที่ ๒๑ และสหัสวรรษที่ ๓ อย่างไรก็ตาม มีชาวบ้านที่อยู่ในชนบทที่มีความเชื่อก็จะเรียกปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า ราหูอมจันทร์ ก็จะตีเกราะเคาะไม้ให้โลกคายดวงจันทร์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ด้าน น.ส.สาลิน วิรบุตร์ ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวว่า ระหว่างเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง จะเห็นดวงจันทร์เป็นสีอิฐ สีหมากสุก สีออกแดง หลังจากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงาของโลกไปทางตะวันออก และกลับมาเป็นสีเหลืองมากขึ้นจนสว่างเต็มดวงเป็นสีเหลืองปกติหลังเวลา ๐๓.๕๑ น. ซึ่งสามารถดูปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ทั่วประเทศ แต่จะดีถ้าขึ้นไปดูในที่สูงๆ ออกนอกเมืองหรือบนภูเขาเพราะท้องฟ้าจะแจ่มใส ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๔ มกราคมที่ผ่านมา โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ฉะนั้น ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกจะสะท้อนแสงอาทิตย์มายังโลก ในช่วงนี้จะเห็นดวงจันทร์สว่างมาก และในคืนวันที่ ๙ ต่อวันที่ ๑๐ มกราคม ดวงจันทร์เพ็ญเต็มดวง จะสว่างจนแสบตาเลย นายเมธี มหายศนันท์ หัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสภาพท้องฟ้าคืนวันอังคารที่ ๙ ต่อเช้าวันพุธที่ ๑๐ มกราคมนี้ว่า ลักษณะท้องฟ้าน่าจะยังโอกาสมีเมฆแต่จะไม่หนามากนัก โดยขณะนี้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนกำลังจะเคลื่อนตัวเข้ามาประเทศไทย ถ้าเคลื่อนตัวเข้ามาในวันที่ ๘ มกราคมนี้ สภาพท้องฟ้าในคืนดังกล่าวน่าจะมีเมฆน้อยลง อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่เมฆจะปกคลุมถึงร้อยละ ๖๐ แต่ถ้าขึ้นไปทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือท้องฟ้าจะแจ่มใสมากกว่า ภาคกลางตอนล่าง--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ