รพ. กรุงเทพรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เคลื่อนย้ายถูกวิธี รักษาอย่างตรงจุด เผยอุบัติเหตุบนท้องถนนในเมืองไทยไต่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ข่าวทั่วไป Monday December 14, 2015 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น ปัจจุบันเราได้ยินข่าวอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนอยู่เป็นประจำทางทีวี หนังสือพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ แม้กระทั่งพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเองอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาลสำคัญต่างๆ ที่มีผู้คนสัญจรใช้รถใช้ถนนกันมากมาย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เมื่อเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นแต่ละวินาทีที่ผ่านไปอาจหมายถึงชีวิต หรือความพิการของผู้บาดเจ็บ โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงจัดงาน "Trauma Day : Be Aware of Road Traffic Accident" เพื่อร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมแนะวิธีการช่วยเหลือปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างถูกวิธี ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความสูญเสียได้ พญ.สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยผลการรายงานสถานะความปลอดภัยทางถนนโลก ประจำปี 2015 (Global Status Report on Road Safety 2015) ยกประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศที่มีอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลก รองจากประเทศลิเบีย โดยข้อมูลเมื่อปี 2012 ระบุว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 14,059 ราย คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ 39 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้นับรวมผู้เสียชีวิตหลังส่งโรงพยาบาล จากยานพาหนะทั่วประเทศที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย จำนวน 32,476,977 คัน กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถสามล้อคือกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนกลุ่มใหญ่ที่สุด คิดเป็น 73% ตามด้วยผู้โดยสารรถยนต์ 4 ล้อ คิดเป็น 7% ส่วนคนขับรถยนต์คิดเป็น 6% ในรายงานยังระบุอีกว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขาดความระมัดระวัง อย่างเช่นกฎหมายเรื่องการคาดขัดนิรภัยที่จะใช้กับคนขับและผู้โดยสารข้างคนขับเท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึงผู้โดยสารคนอื่นๆ โดยจากการศึกษายังพบว่า มีเพียง 58% ของผู้ขับขี่ และ 54% ของผู้โดยสารข้างคนขับที่ใช้เข็มขัดนิรภัย และอีกส่วนหนึ่งคือผู้โดยสารจักรยานยนตร์รับจ้างก็มักไม่สวมหมวกกันน็อก นอกจากนั้น อีก 26% คือผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ พญ.สมจินตนา กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 7 วันอันตรายที่ใกล้จะมาถึงนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพ มีความพร้อมด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินได้กำหนดให้ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ (Bangkok Trauma Center) เตรียมรับมือในการให้คำแนะนำ พร้อมรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบก และทางอากาศ มีทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชาชีพพร้อมให้การดูแล และให้การช่วยเหลือ โดยมุ่งหวังให้ผู้ประสบอุบัติเหตุปลอดภัยที่สุด ด้วยความร่วมมือกันของบุคลากรการแพทย์ ทำให้มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บที่ซับซ้อน รุนแรง หรือบาดเจ็บพร้อมกันหลายอวัยวะ เช่น สมอง กระดูก และอวัยวะภายในต่างๆ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากสาเหตุอื่นๆ สิ่งสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บคือ ความปลอดภัย รถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจึงมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมด้วยอุปกรณ์ตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง อาทิ เครื่องติดตามสัญญาณชีพ และเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องควบคุมการให้ยา และสารน้ำ, เครื่องดูดเสมหะสำหรับดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ความเพียบพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ และทีมแพทย์ทำให้รถพยาบาลเป็นเหมือน ICU เคลื่อนที่ รถทุกคันติดตั้งระบบ GPS ช่วยระบุพิกัด สามารถติดตามตำแหน่งของรถพยาบาลขณะอยู่บนท้องถนน และมีระบบช่วยนำทางไปยังจุดหมาย ทำให้สามารถเลือกเส้นทางที่สะดวกที่สุดเพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว โรงพยาบาลกรุงเทพจัดบริการรับส่งผู้ป่วยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างสมบูรณ์แบบโดยมีรถพยาบาลฉุกเฉิน(Ambulance), หออภิบาลผู้ป่วยเคลื่อนที่ (Mobile ICU), เฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน(Sky ICU) และอากาศยานการแพทย์ (Air ambulance) รวมทั้ง เรือฉุกเฉิน (Hydrolance) และรถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน (Motorlance) ที่พร้อมบริการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และความรุนแรงเร่งด่วนของการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม สติเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่ทีมรถพยาบาลฉุกเฉินจะไปถึงที่เกิดเหตุ คนที่อยู่กับคนเจ็บจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พญ.สมจินตนา ให้คำแนะนำว่า จะต้องประเมิน 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ ที่เกิดเหตุมีความปลอดภัยหรือไม่ เช่น เมื่อรถชนกันมีคนบาดเจ็บอยู่ในรถ โดยทั่วไปหมอจะแนะนำไม่ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมากเพราะอาจจะเกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้ แต่ในกรณีที่ในที่เกิดเหตุไม่ปลอดภัย เช่น มีน้ำมันเชื้อเพลิงรั่วไหล มีประกายไฟ ซึ่งอาจจะเกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ในรถได้ ถ้าดูแล้วตอนนั้นยังสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ให้รีบเข้าไปนำคนเจ็บออกมายังที่ปลอดภัย แต่ถ้ามีความเสี่ยงให้รอทีมฉุกเฉินมาช่วย โทรฯ เข้าสายด่วน ไม่ว่าจะเป็นของ ภาครัฐที่เบอร์ 1669 หรือศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินกรุงเทพ 1724 จะได้รับคำแนะนำว่า ในการช่วยเหลือกู้ชีวิตเบื้องต้นต้องทำอย่างไร ด้าน นพ.วัชระ พิภพมงคล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บที่เห็นได้ชัด เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน การช่วยเหลือ คือ พยายามไม่ให้มีบาดเจ็บเพิ่มขึ้น แต่หลายครั้งคนที่อยู่ใกล้เคียงเห็นคนไข้กระดูกหักงออย่างชัดเจน แล้วหวังดีดัดให้เข้าที่โดยขาดความรู้ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมกับเส้นเลือด เส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนของกระดูกที่หัก ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ ประคองให้อยู่นิ่งที่สุด หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็ขอให้มีการประคองส่วนที่หักหรือเคลื่อนไหวให้มีการเคลื่อนตัวน้อยที่สุด ป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น การบาดเจ็บที่สำคัญอย่างยิ่งอีกชนิดหนึ่งคือการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง คนเจ็บจะมีอาการปวดหลังหรือคอ ถ้าเคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธีจะทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนมีการกดเบียดไขสันหลังหรือเส้นประสาท ส่งผลให้เป็นอัมพาตถาวรได้" "ถ้าต้องการให้การช่วยเหลือหากคนเจ็บสามารถตอบคำถามได้ ก่อนขยับขอให้สอบถามก่อน ว่ามีอาการปวดคอหรือปวดที่ส่วนหลัง ส่วนเอวหรือไม่หรือหากไม่แน่ใจ การเคลื่อนย้ายควรจะต้องเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญ ขอให้รอทีมช่วยเหลือ เช่น หน่วยกู้ชีพ จะปลอดภัยกว่า เมื่อคนเจ็บมาถึงโรงพยาบาลแล้ว หากเป็นกรณีกระดูกหัก มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างแม่นยำจากแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อภายในโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมงสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยกระดูกหักได้อย่างรวดเร็ว มีการทำงานเป็นทีมตามความชำนาญ มีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัยเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัย สำหรับการรักษากระดูกหักในปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับกระดูกที่หักและที่สำคัญที่สุดคือการให้ความสำคัญกับความเสียหายของเนื้อเยื่อโดยรอบที่ห่อหุ้มกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การดามกระดูกแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นในการทำผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกและดามด้วยโลหะภายในชนิดที่ไม่ต้องเปิดแผลยาวแบบสมัยก่อนจะทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบกระดูกบาดเจ็บน้อย กระดูกเชื่อมติดตามเวลาและสามารถกลับไปใช้งานได้ดี มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ ที่เราเรียกจนติดปากว่าการผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Technique สามารถใช้เทคนิคนี้ในการดามกระดูกภายในด้วยการใช้เหล็กแกนสอดในโพรงกระดูกหรือการใช้เหล็กแผ่นและสกรู เป็นการสอดจากภายนอกผ่านแผลเล็กๆไปดามกระดูกภายในที่อยู่ลึกลงไปโดยใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคป (Fluoroscope) ในขณะทำการผ่าตัดเพื่อประเมินความถูกต้องและแม่นยำ ถึงแม้เราจะมีความพร้อมทั้งในด้านทีมแพทย์ ทีมบุคลากร ความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน เครื่องมืออุปกรณ์ที่พร้อมและทันสมัยสามารถให้การรักษากระดูกหักที่มีความรุนแรงมากๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นเลย เริ่มที่ตัวผู้ใช้รถใช้ถนนเอง ตั้งสติทุกครั้งก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ การระมัดระวังในการขับขี่ทุกวินาที การไม่ดื่มสุรา ง่วงไม่ขับ ไม่ใช้โทรศัพท์หรือ social media ต่างๆขณะขับรถ การไม่ใช้ความเร็วสูงเกินกำหนด ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับหรือนั่งรถยนต์ ควรสวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่หรือซ้อนรถจักรยานยนต์ นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะปั่นรถจักรยาน ถ้าเราหกล้ม เราจะยกมือขึ้นมายันพื้นก่อนเลย ซึ่งจริงๆ แล้วอันตรายมากสำหรับคนปั่นจักรยาน เพราะการยื่นแขนออกมาค้ำพื้นจะเสี่ยงต่อการกระดูกไหปลาร้าหัก ไหล่หลุด ข้อมือหัก หรืออย่างเบาก็ซ้นไปหลายวัน ดังนั้นหากเป็นไปได้เมื่อปั่นจักรยานแล้วจะล้มให้พยายามเอาด้านข้างลง ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการปั่นจักรยาน หากเป็นการการล้มแบบด้านข้างที่ไม่รุนแรงก็สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ แต่หากเป็นการล้มคะมำควรประเมินอาการของผู้บาดเจ็บก่อนว่ารุนแรงหรือไม่ เพราะหากอาการรุนแรงมากการเข้าไปช่วย หรือเข้าไปขยับร่างกายผู้ป่วยอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น อุบัติเหตุแต่ละครั้งย่อมไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จว่าวิธีไหนจะลดความเสียหายและอาการบาดเจ็บได้ดีที่สุด ก็ต้องใช้วิจารณญาณและอย่าให้มันเกิดขึ้นจะดีที่สุด แต่หากเกิดอุบัติเหตุก็ขอให้ตั้งสติ นึกถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลักก่อน ที่สำคัญกิจกรรมที่เป็นการปั่นแบบขบวนใหญ่ หากมีการแทรก สะดุด หรือเกิดการล้ม อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ปั่นตามมาได้ ดังนั้นเมื่อพบเห็นอุบัติเหตุในการปั่นแนะนำว่าอย่าหยุดปั่นกลางครัน แล้วลงไปดูคนเจ็บ เพราะคันหลังอาจหยุดไม่ทันแล้วเกิดอุบัติเหตุได้ ขอให้เลี่ยงออกจากจุดเกิดเหตุเข้าข้างทาง แล้วโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ในช่วง 7 วันระวังอันตรายนี้อาจเกิดอุบัติเหตุที่คุณเองคาดไม่ถึง ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพพร้อมให้การดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อความไว้วางใจ และความปลอดภัยของทุกชีวิต โรงพยาบาลกรุงเทพ Contact Center โทร 1719 หรือสายด่วน Bangkok Emergency Services โทร. 1724 โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ