ถาปัตย์ มจธ. ออกแบบ WoodWalk ไม้เท้าเพื่อผู้สูงอายุรุ่นใหม่

ข่าวทั่วไป Friday December 18, 2015 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักศึกษาคณะสถาปัตย์ มจธ. ประยุกต์องค์ความรู้จากวิชาดีไซน์ สร้างสรรค์ WoodWalk งานออกแบบเพื่อผู้สูงอายุรุ่นใหม่ เปลี่ยนภาพไม้เท้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เป็นงานดีไซน์ ร่างกายของคนเรามีการเสื่อมสภาพไปตามช่วงเวลา คนส่วนใหญ่มักจะพูดว่าอายุยิ่งมากก็ยิ่งต้องต่อสู้ กับแรงโน้มถ่วงของโลกมากขึ้น และเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุหรือวัยชราจึงต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่ช่วยพยุงร่างกายให้ สามารถเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว และ Walker หรือไม้เท้าชนิดต่างๆ ก็เป็นอุปกรณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นขาที่สาม ของชีวิตในยามแก่เฒ่าได้เลยทีเดียว "น้องแซม" หรือ นายศิลา เศวตาภรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการ ออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้สังเกตุเห็นความสำคัญและปัญหาใน การใช้ไม้เท้าจากผู้สูงอายุที่บ้าน ประกอบกับได้รับโจทย์จากวิชาเรียนให้ทำการออกแบบผลงานเพื่อคนพิการ ทางสายตา จึงทำการศึกษาและพบว่าไม้เท้าสำหรับผู้พิการทางสายตานั้นมีรูปแบบที่รองรับและใช้งานได้ดีอยู่ แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้พิการทางสายตาและเป็นผู้สูงอายุด้วยนั้นยังไม่ค่อยมีจึงได้พัฒนาผลงานที่ชื่อว่า "WoodWalk" ขึ้นมา "ผมได้รับโจทย์จากการเรียนวิชาดีไซน์ให้ทำงานออกแบบเพื่อคนตาบอดและนึกถึงไม้เท้า แต่จาก การศึกษาพบว่าไม้เท้าสำหรับคนตาบอดมีรูปแบบที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้ว จึงคิดต่อยอดไปอีกว่าถ้าเป็นผู้สูงอายุที่ ตาบอดในปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์ที่จะช่วยรองรับ ผมจึงเลือกที่จะทำผลงานชิ้นนี้โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูล ด้วยการสอบถามจากผู้ใช้งานจริง สรุปได้สามหัวข้อหลักคือ กายภาพและการใช้งาน ความรู้สึก และสังคม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ไม้เท้าสี่ขาเป็นตัวช่วยในการเดิน" น้องแซม กล่าวต่ออีกว่าการออกแบบ WoodWalk นั้นเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องที่ผู้ใช้งานไม้เท้าสี่ขาสะท้อนให้เห็น สิ่งแรกคือลักษณะทางกายภาพ เนื่องจากไม้เท้าสี่ขาที่ใช้อยู่นั้นมีคานขวางตรงกลางซึ่งจะขวางเวลาก้าวเดิน ทำให้เกิดลักษณะการเดินที่ไม่ปกติ และเวลาเดินตัวของผู้ใช้งานไม่ได้อยู่ตรงกลางของไม้เท้าจึงยังมีความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะพลาดล้มได้ จึงได้ออกแบบ WoodWalk ให้มีลักษณะคานที่ยื่นออกไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถก้าวเดินได้สะดวกและตัวของผู้ใช้จะอยู่ตรงกลางไม้เท้าพอดีทำให้มีความมั่นคงไม่ว่าจะหมุนตัวหรือก้าวเดิน นอกจากนั้นยังเพิ่มที่จับส่วนล่างเพื่อเป็นฟังก์ชั่นเสริมสำหรับช่วยพยุงในขณะที่ผู้สูงอายุกำลังลุกขึ้นยืนจากที่นั่งได้ง่ายขึ้น ต่อมาเป็นเรื่องของความรู้สึก เนื่องจากไม้เท้าส่วนมากทำจากอะลูมิเนียมซึ่งผู้ใช้บอกว่าขณะใช้มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังป่วยและต้องใช้เครื่องมือแพทย์ทุกวันซึ่งเป็นความรู้สึกที่หดหู่ ดังนั้นจึงเลือกวัสดุที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและสบายตาอย่างเนื้อไม้มาช่วยในการออกแบบ WoodWalk และสิ่งสุดท้ายเป็นเรื่องทางสังคม ผู้ใช้งานส่วนมากไม่ต้องการที่จะถือไม้เท้าสี่ขาอันใหญ่ๆ ไปในที่สาธารณะเพราะไม่อยากเป็นคนป่วย หรือคนแก่มากๆ ในสายตาคนอื่นตลอดเวลา ดังนั้น WoodWalk จึงถูกออกแบบมาเพื่อลบภาพเหล่านี้ออกไป ให้กลายเป็นไม้เท้าที่สามารถถอดออกจากกันได้ จาก 4 ขา เหลือ 2 ขา ใช้ถือเพียงข้างเดียวได้ ทำให้มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้นและพกพาไปในที่สาธารณะได้สะดวก เสริมให้ผู้ใช้ดูสง่าและสดใสมากขึ้น "หัวใจของงานออกแบบชิ้นนี้นอกจากจะทำให้เป็นอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่นใช้งานตอบสนองผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว ยังให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของอุปกรณ์ที่สื่อถึงตัวตนของผู้ใช้งานซึ่งถึงแม้จะเป็นคนพิการทางสายตา หรือผู้สูงอายุก็สามารถใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นงานดีไซน์ได้เช่นกัน" น้องแซมกล่าว ..
แท็ก สถาปัตย์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ