มูลนิธิพีซีเอส เพื่อการพัฒนาสังคมในประเทศไทย จัดงาน Happy Family Day 2015

ข่าวทั่วไป Thursday December 24, 2015 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จับมือมูลนิธิพีซีเอส เพื่อการพัฒนาสังคมในประเทศไทย จัดงาน Happy Family Day 2015สร้างความสุขและรอยยิ้มให้ผู้ป่วยพิการบนใบหน้าและศีรษะทั่วประเทศ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ มูลนิธิพีซีเอส เพื่อพัฒนาสังคมในประเทศไทย โดยบริษัทพรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือพีซีเอส เชิญชวนน้องๆ ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและศีรษะทั่วประเทศเข้ารับการรักษาฟรีตลอด 5 ปีกับ โครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา พร้อมจัดกิจกรรม "สนุกสุขสันต์วันพบปะ ครั้งที่ 5" (Happy Family Day 2015) ณ อาคารแพทยพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นเสมือนวันเด็กเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ คืนความสุข ความหวังและรอยยิ้มให้ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและศีรษะทั่วประเทศ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่าวิสัยทัศน์ของสภากาชาดคือการเป็นที่พึ่งของประชาชน การเป็นองค์กรสาธารณะกุศลเพื่อบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรค กำจัดภัย เพื่อประโยชน์สุขของผู้คน ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย เป็นศูนย์กลางการรักษาความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งดำเนินการโดยไม่แสวงหาผลกำไร โดยทางศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยในทุกๆ ด้าน ทั้งกาย ใจ และสังคม และในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบในปีนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ได้ร่วมกับมูลนิธิพีซีเอส เพื่อพัฒนาสังคมในประเทศไทย จัดโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา เพื่อช่วยเหลือค่ารักษาผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยทุกรายตลอดระยะเวลา 5 ปี อันเป็นการคืนความสุข ความหวังและรอยยิ้มให้ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและศีรษะทั่วประเทศ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ กล่าวว่า ความพิการทางใบหน้าและกะโหลกศีรษะมีหลายแบบ ตามแต่ความรุนแรงของความพิการ หลายคนเคยได้ยินอาการปากแหว่งเพดานโหว่ โรคงวงช้าง ฯลฯ แต่ความพิการของคนไข้บางรายอาจมีถึงอาการกระบอกตาห่างหรือต่างระดับ การรักษาความพิการทางใบหน้าและกะโหลกศีรษะจึงเกี่ยวเนื่องกับแพทย์หลายสาขาวิชา สำหรับศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศรีษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงมีแพทย์ที่ร่วมกันถึง 12 สาขา นับได้ว่าเป็นหน่วยงานทางการแพทย์สากลที่ช่วยเหลือปัญหาความพิการของใบหน้าและศีรษะรายแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในระดับสากลเราถือว่าเป็นผู้นำด้านนี้ โดยเฉพาะการผ่าตัดรักษาโรคงวงช้าง ที่ทั่วโลกรู้จักในนาม "Chula Technique" "สำหรับการกำจัดความพิการไม่ให้เกิดขึ้นนั้นยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่การระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงนั้นมีอยู่ ใบหน้าของทารกจะเริ่มพัฒนาในช่วง 12 – 14 สัปดาห์แรก ดังนั้นมารดาผู้ตั้งครรค์ควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร และการสัมผัสหรือเข้าใกล้สารพิษในช่วงนี้เป็นพิเศษ" ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ กล่าว รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ รองหัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ กล่าวว่า ในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปีนี้ ทางศูนย์ฯ ได้จัดให้มีโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา เพื่อขยายความช่วยเหลือออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งเป้าช่วยเหลือผู้พิการทางใบหน้าและศีรษะจำนวนอย่างน้อย 200 คนในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทางโครงการจะช่วยเหลือแบบครบวงจรทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาผ่าตัด ค่าเดินทาง ที่พัก การฝึกพูด การจัดฟัน ฯลฯ โดยผู้ป่วยที่สนใจสามารถติดต่อรับการรักษาผ่านโครงการฯ ได้โดยตรงที่ศูนย์ฯ หรือขอรับการรักษาผ่านเหล่ากาชาดจังหวัดและโรงพยาบาลในภูมิภาค นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพทางกายของผู้ป่วยแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังคำนึงถึงสภาพจิตใจด้วย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ได้จัด โครงการชีวิตนี้ยังมีหวัง (Craniofacial Support Group) เพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจแบบเป็นกลุ่ม นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เป็นต้นแบบของการจัดกลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือกันเองสำหรับผู้มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และยังจัดงานประจำปีขึ้นเป็นพิเศษในช่วงปิดเทอม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เรียกว่า "งานวันพบปะครอบครัวผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่นๆ" ปัจจุบันเรียกว่า "งานสนุกสุขสันต์วันพบปะ" (Happy Family Day) ซึ่งเป็นงานสังสรรค์สำหรับผู้ที่มีความพิการใบหน้าและกะโหลกศีรษะโดยเฉพาะ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กและครอบครัวได้มาพบปะสังสรรค์กัน เสมือนเป็นวันเด็ก ได้เยี่ยมชมสถานที่ที่น่าสนใจ มีวิทยากรให้ความรู้ ได้รับของแจกของที่ระลึกมากมาย ทำให้เขาเหล่านี้รู้สึกว่าเขาก็มีโอกาสทางสังคมเช่นเดียวกับคนอื่น ด้าน นายธนา ถิรมนัส ประธานกรรมการมูลนิธิพีซีเอส เพื่อการพัฒนาสังคมในประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ โอซีเอส ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การได้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนในกิจกรรม "สนุกสุขสันต์วันพบปะ ครั้งที่ 5" (Happy Family Day 2015) ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สองของเรา นอกเหนือจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังมีโครงการเข้ามาช่วยปรับปรุงพื้นที่ผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครองระหว่างนั่งรอพบแพทย์ บริเวณหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ซึ่งเราคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ที่มีบรรยากาศรื่นรมย์ระหว่างนั่งรอพบแพทย์ได้ภายในปี 2559 ที่จะถึงนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของมูลนิธิพีซีเอส ที่ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของมูลนิธิ ในการทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ โดยเฉพาะเด็กที่มีความพิการบนใบหน้าและศรีษะ จะได้รับโอกาสใหม่ในชีวิตและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป "การได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ คือหลักฐานพิสูจน์ว่าโครงการของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโครงการที่ดีมาก และอยากเชื้อเชิญให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆเช่นนี้ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพให้กับประเทศชาติต่อไป" นายธนาทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ