ส.อ.ท. ผนึกกำลัง สภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ และ มช. เสริมแกร่งให้ภาคธุรกิจ - อุตสาหกรรม เปิดหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรของไทย และเมียนมาร์ในอนาคต

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2015 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลัง สภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Boardroom 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผุด! หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรของไทย และเมียนมาร์ในอนาคต นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจะพัฒนาประเทศได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วน และต้องทำงานในหลายมิติ การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาก็นับว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของการลงทุน ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ความร่วมมือระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการร่วมลงนาม "บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์" ในครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการเปิดสอนหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ณ สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง (Yangon University of Economics) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคการเงินและธนาคาร ซึ่ง ณ วันนี้ ระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเงินและธนาคารมีความสำคัญอย่างมาก และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยอยู่ระหว่างการปฏิรูป และพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และการเงิน การธนาคาร ที่ยังมีความต้องการการได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ อยู่ "ความร่วมมือการส่งเสริมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ที่จะได้ให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนเพื่อการศึกษา โดยปัจจุบัน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และ สถาบันทางการเงินของไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ กับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ทั้งในรูปแบบการบรรยายเพื่อให้ความรู้ การจัดอบรม การศึกษาดูงาน และการฝึกงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของด้านการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านระบบและเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถให้กับนักศึกษาเมียนมาร์ให้มีทักษะฝีมือ (Skilled labor) จากนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมไทยโดยตรง ผ่านการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถ่ายทอดระบบ ความรู้ วัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ จะช่วยเสริมสร้างให้แรงงานเมียนมาร์มีคุณภาพเข้าสู่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมากขึ้น โดยในระยะยาว จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวในการทำการค้า การลงทุนระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ อันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดระบบระหว่างกันด้วย" นายสุพันธุ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม การเปิดสอนหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ณ สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง (Yangon University of Economics) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในด้านเศรษฐศาสตร์ การค้าและการลงทุน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศีกษาต่อไป ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจไทย – เมียนมาร์ จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานักศึกษา ผ่านการบรรยายให้ความรู้ การศึกษาดูงาน และการฝึกงาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่นักศึกษาต่อไป ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ณ Yangon University of Economics ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อผลิตนักศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และตลาดทุน เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรทั้งในภาคการศึกษาและภาคธุรกิจของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ