วัยรุ่นร้อยละ 47.94 คิดว่าจะไปร่วมสวดมนต์ข้ามปี ส่วนใหญ่คิดว่าการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีช่วยสร้างความใกล้ชิดกับวัดมากขึ้น มากกว่าสองในสามไม่เห็นด้วยที่วัดจัดพิธีทำบุญเสดาะเคราะห์แก้กรรมเพื่อหารายได้ควบคู่ไป

ข่าวทั่วไป Tuesday December 29, 2015 17:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ , ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ กิจกรรมหนึ่งที่มีการจัดขึ้นในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ติดต่อกันมาหลายปีและกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องคือการสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ซึ่งมีวัดต่างๆได้จัดกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ทั้งนี้การจัดงานสวดมนต์ข้ามปีนอกจากจะเป็นกิจกรรมทางเลือกให้ประชาชนได้เข้าร่วมแล้วยังถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นได้เกิดความผูกพันใกล้ชิดกับวัดและหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามากขึ้น ประกอบกับยังเป็นการช่วยลดปริมาณการจัดงานเลี้ยงฉลองด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับได้โดยอ้อมอีกเช่นกัน ดังนั้นเนื่องในโอกาสเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ประจำปี พ.ศ. 2558-2559 สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 ถึง 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวสรุปผลการสำรวจว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,139 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.66 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.34 เป็นเพศชาย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.75 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 19 ถึง 22 ปี ในด้านพฤติกรรมการไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 39.07 ระบุว่าตนเองเคยไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของปีก่อนๆมาแล้ว 1 ถึง 2 ครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.8 และร้อยละ 9.92 เคยไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีมาแล้ว 3 ถึง 4 ครั้ง และ 5 ครั้งขึ้นไปตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 35.21 ที่ไม่เคยไปร่วมเลย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.14 ระบุว่าตนเองเดินทางไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในสถานที่เดียวกันทุกครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.86 ระบุว่าตนเองเดินทางไปร่วมงานในสถานที่ที่ต่างกันในแต่ละครั้ง และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.12 ระบุว่าตนเองเดินทางไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง/ญาติพี่น้องบ่อยที่สุด ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.19 มีความคิดเห็นว่าการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีส่วนเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างวัดกับชุมชนได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.15 และร้อยละ 51.01 มีความคิดเห็นว่าการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้กลุ่มวัยรุ่นหันมาให้ความสนใจสวดมนต์ไหว้พระมากขึ้นได้และมีส่วนช่วยให้กลุ่มวัยรุ่นได้เรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาได้มากขึ้นตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.01 ไม่เห็นด้วยกับการที่วัดจัดให้มีการทำบุญเสดาะเคราะห์แก้กรรมเพื่อหารายได้เข้าวัดควบคู่ไปกับการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.58 เห็นด้วย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.41 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.71 มีความคิดเห็นว่าการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะไม่มีส่วนช่วยลดการดื่มสุราเลี้ยงฉลองในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของกลุ่มวัยรุ่นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.22 มีความคิดเห็นว่าการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะไม่มีส่วนช่วยลดพฤติกรรมเมาแล้วขับของกลุ่มวัยรุ่นได้ สำหรับความตั้งใจที่จะไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในปี พ.ศ. 2558-2559 นี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.94 มีความคิดเห็นว่าจะไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในปี พ.ศ. 2558-2559 นี้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.31 ระบุว่าจะไม่ไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.75 ยังไม่แน่ใจ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ