นายกแพทยสภา หนุน สธ. ปฏิรูปบัตรทอง ข้าราชการทั่วประเทศ วอนคงสิทธิรักษาพยาบาลตามเดิม

ข่าวทั่วไป Wednesday January 6, 2016 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.-- จากกระแสข่าวที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีแนวคิดปฏิรูปบัตรทอง โดยให้ "ประชารัฐ" ร่วมจ่าย เพื่อเป็นการสร้างระบบหลักประกันมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักกันประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะหากให้รัฐเป็นฝ่ายรับค่าใช้จ่ายอยู่ฝ่ายเดียวเสี่ยงระบบของประเทศจะพังได้ โดยล่าสุด ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะถือเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์กับประชาชน และเป็นการเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองอย่างยั่งยืน "ค่าใช้จ่ายทุกวันนี้สูงขึ้น ผู้สูงอายุก็มากขึ้น ยาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ราคาสูง ก็มีเข้ามาเยอะ ในขณะที่ความคาดหวังของประชาชนในการรักษาก็เพิ่มขึ้น ตอนนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงต่อหัวประชากรในระบบบัตรทองมากกว่างบประมาณที่ได้รับ เพราะคนไข้บางส่วนก็ไม่ได้มาเบิกจ่ายใช้จริง ถ้าให้พูดจริงๆตอนนี้ต้องเรียกว่าแบ่งกองทุนออกเป็น 4 กองทุนไม่ใช่แค่ 3 กองทุน เพราะเดี๋ยวนี้หันมาใช้ประกันเอกชนกันเยอะ แต่ถึงขนาดนี้ โรงพยาบาลรัฐก็ยังมีปัญหาขาดสภาพคล่องเพราะได้รับงบประมาณน้อยกว่าต้นทุนการรักษา การให้ทุกคนมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่าย จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว และยังทำให้คนไข้ได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตนเอง เพราะทุกวันนี้ไม่ตระหนักเลย กิน เหล้า เมายา ก็คิดว่าไม่เป็นไรเพราะรักษาฟรี การรักษาในต่างประเทศมีหลักการคือเข้าถึงการรักษาแต่ไม่ได้ฟรีทุกอย่าง อาจจะฟรีค่ารักษาบางอย่าง และมีการร่วมจ่ายค่ายาเอง ส่วนของไทย ถ้าคนไม่มีเงินเราก็ต้องช่วยเขา แล้วต้องไม่ให้คนใดคนหนึ่งยากจนเพราะความเจ็บป่วย การที่ให้คนที่สามารถจ่ายได้ ร่วมจ่ายจะช่วยให้ระบบของประเทศในระยาวมั่นคง การรักษามีคุณภาพซึ่งเป็นประโยชน์กับคนไข้อย่างแน่นอน " นายแพทย์สมศักดิ์ ยังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการกำหนดเพดานของงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพราะการดูแลจะถูกเปลี่ยนแปลงไปทำให้สนใจแต่งบประมาณ ไม่สนใจคุณภาพการรักษาหรือไม่โรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ แต่ควรหาวิธีการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและรับรู้ ปัญหาก็จะน้อยลง เพราะโรคบางอย่างไม่สามารถมากำหนดงบประมาณในการรักษาได้ ทางด้าน พลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนมองว่า สวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตนมองว่าสิทธิของข้าราชการเป็นคนละส่วนกับเรื่องของการรักษาแบบบัตรทอง เพราะสวัสดิการของข้าราชการถือเป็นพันธะสัญญาที่รัฐบาลได้ให้ไว้ตั้งเมื่อครั้งเข้ารับราชการอยู่แล้ว และโดยปกติผู้รับราชการมีรายได้น้อย เพื่อแลกกับเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพ ที่หวังว่าจะได้รับการดูแลในยามที่ตนเองหรือครอบครัวเจ็บป่วย ซึ่งข้าราชการเองก็ยังมีผลกระทบทางด้านการรักษาอยู่ เพราะค่าบริการบางอย่างก็ต้องจ่ายเงินเอง ส่วนยารักษาโรค ก็ขึ้นกับแพทย์ที่จะให้การรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้โรคหายเร็วขึ้น และถ้าได้ยาดี ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นการลดงบประมาณด้านอื่นๆอีกอย่างมาก "อันที่จริงแล้วไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน เพราะหากใครป่วยด้วยโรคเดียวกันก็คงใช้งบประมาณในการรักษาตัวเองเท่ากัน ตนมองว่าควรต้องเปลี่ยนระบบการบริหารใหม่ว่า ถ้าเขาจำเป็นต้องใช้ยา ก็ควรให้แพทย์มีสิทธิในการจ่ายยาเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดี ไม่ใช่ไปลดคุณภาพของการรักษาของกลุ่มอื่นลง แต่ควรมีการใช้ด้วยความโปร่งใส ตรงไป ตรงมา ส่วนคนที่ไม่มีเงินจริงๆ รัฐบาลควรมีงบกลาง เหมือนงบน้ำท่วม งบไฟไหม้ เพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้ได้มีโอกาสมาใช้เงินสำรองส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ดีตนอยากฝากวอนรัฐบาลในการให้สิทธิกับข้าราชการขอให้รัฐให้การดูแลอย่างเต็มที่ ตามที่ได้เคยให้พันธะสัญญากันไว้เพราะคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้คือผู้ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และทำงานเพื่อสังคมโดยรวมมาโดยตลอด" ส่วนแนวทางที่อาจจะมีการกำหนดงบประมาณเฉลี่ยในการรักษาพยาบาลของ 3 กองทุน โดยแต่ละกองทุนห้ามใช้งบมากกว่ากันเกิน 10% นั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะงบประมาณเฉลี่ยที่เอามาคิด ถ้าไม่ถูกตรรกะก็ทำให้เป็นการลดมาตรฐานและคุณภาพการรักษา งบประมาณการรักษาโรคต้องขึ้นกับภาวะการเกิดโรคและมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม หากมีความจำเป็นในการรักษาหรือเกิดโรคระบาด การกำหนดตัวเลขแบบนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ หากเงินไม่พอ ก็ต้องหาวิธีที่เหมาะสมตามที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ