ปภ.แนะสร้างสภาพแวดล้อมบ้านปลอดภัย...ลดเสี่ยงอุบัติภัยในเด็ก

ข่าวทั่วไป Wednesday January 6, 2016 19:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ปกครองสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง จัดเก็บสิ่งของอันตรายไว้ในที่มิดชิดรวมถึงดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายและวิธีป้องกันอุบัติภัย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในเด็ก นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า บ้านเป็นสถานที่ที่เด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ เนื่องจากความซุกซนและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก รวมถึงการไม่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก ดังนี้ สร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย โดยตรวจสอบและซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ ยึดติดเฟอร์นิเจอร์ที่เสี่ยงต่อการล้มกับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา เลือกใช้ที่กั้นประตูทางออกสู่ระเบียงบ้านแบบปิดทึบ หากเป็นลูกกรงควรเว้นระยะห่างให้เหมาะสม เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกหรือศีรษะเข้าไปติด ติดตั้งที่กั้นบริเวณราวบันได เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกหรือปีนป่ายบันได ทำให้ได้รับอันตราย ไม่วางสิ่งของกีดขวางบริเวณทางเดินหรือขั้นบันได ใช้วัสดุปูพื้นห้องน้ำที่มีผิวขรุขระ ปูพรมยางหรือผ้าเช็ดเท้าบริเวณหน้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันเด็กลื่นหกล้ม พร้อมจัดให้มีฝาครอบปิดภาชนะกักเก็บน้ำ และปิดประตูห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันเด็กเข้าไปเล่น ทำให้จมน้ำเสียชีวิต ติดตั้งปลั๊กไฟไว้บนที่สูง จัดให้มีที่ครอบปลั๊กไฟ หมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติและสายดิน เพื่อป้องกันเด็กถูกไฟฟ้าดูด สร้างสภาพแวดล้อมบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัย โดยจัดทำรั้วหรือฝาตะแกรงกั้นรอบบ่อน้ำ ติดป้ายเตือนอันตรายและจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำไว้ใกล้ๆ แหล่งน้ำ ตรวจสอบประตูรั้วให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะรางและล้อเลื่อน ควรมีน็อตยึดติดอย่างหนาแน่น หากเป็นประตูแบบล้อเลื่อนควรจัดให้มีเสาครอบประตูอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการล้มทับเด็ก หมั่นตัดหญ้าไม่ให้ขึ้นรก เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัย เก็บกวาดและทำความสะอาดไม่ให้มีวัสดุแหลมคม เศษกระเบื้อง และตะปูที่อาจทิ่มตำเท้าเด็กได้ รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรง โค่นต้นไม้ที่ยืนต้นตายหรือใกล้ล้ม เพื่อป้องกันแรงลมพัดหรือเด็กปีนป่าย ทำให้ถูกล้มทับได้ ทั้งนี้ อุบัติภัยในเด็กเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นอกจากการสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง จัดเก็บสิ่งของอันตรายไว้ในที่มิดชิดแล้ว ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง รวมถึงสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายและวิธีป้องกันอุบัติภัย ถือเป็นอีกแนวหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็ก 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ