เตือนปิดความเสี่ยง...ค่าเงินบาทปี 2559 โลดโผนรับปีลิง สำนักวิจัย ธ. ซีไอเอ็มบี ไทย มองค่าเงินแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มีโอกาสเห็นค่าบาทเดินถึงทางแยก อ่อนแตะ 40 หรือแข็งถึง 30 ก็ได้!

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 7, 2016 13:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนกำลังตั้งคำถามถึงทิศทางค่าเงินบาทปี 2559 ว่า 'จะโลดโผนเท่าปีที่แล้วหรือไม่' สำนักวิจัยฯคาดการณ์ค่าเงินบาทปีนี้ไว้ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี มีโอกาสเช่นกันที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าแตะ 40 และก็มีโอกาสที่จะแข็งค่าที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ได้! โดยสรุปคือ ค่าเงินบาทปี 2559 จะโลดโผนกว่าปี 2558 "ผมอยากใช้โอกาสช่วงต้นปีฟันธงว่าค่าเงินบาทปีนี้จะผันผวนมากกว่าปีที่แล้ว เรียกว่าเป็นปีที่ยากก็ว่าได้ ปีที่ผ่านมา หลายต่อหลายสำนักวิจัยต่างมองเงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าเช่นเดียวกันมาโดยตลอด จะต่างกันบ้างก็เพียงระดับของค่าเงินในช่วงปลายปี แต่สำหรับปีนี้แล้ว ผมขอย้ำว่า เงินบาทมีโอกาสทั้งอ่อนค่า และแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่ายากสำหรับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน" นายอมรเทพ กล่าว นายอมรเทพ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ปกติ ค่าเงินบาทปลายปีนี้มีโอกาสจะอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยต่างประเทศ คือ ปีนี้จะมีเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ได้อีกหลังสหรัฐฯทยอยขึ้นดอกเบี้ย แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะ 'มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของจีน' ที่คาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ปัจจัยในประเทศ ยังคงมีแรงกดดันให้บาทอ่อนค่า กล่าวคือเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงเผชิญปัญหาการเติบโตที่ช้า และหากการส่งออกยังคงหดตัว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่า เพื่อช่วงชิงความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก หรือ สงครามค่าเงิน ด้วยแล้ว มีโอกาสที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้ายต่อเนื่องจากที่ทำในปีก่อนมากกว่าการลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำลง (คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปีนี้ลดลงจากระดับราว 50 ในปีก่อน) มีผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศนำเข้าสุทธิน้ำมันยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัว ซึ่งสนับสนุนค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิน้ำมันและพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อันจะได้รับผลกระทบจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงทำให้เงินอ่อนค่า อย่างไรก็ดี หากเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คาด ค่าเงินบาทจะเดินมาถึงทางแยก จะอ่อนค่าแรง หรือจะวกกลับมาแข็งค่าได้ พูดให้น่าตกใจคือ บาทจะไป 40 หรือ 30 ก็ได้ทั้งคู่! ดังนั้นนักลงทุนควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนให้ดีในปีนี้ ? สถานการณ์ที่บาทจะไป 40 ถ้าสงครามค่าเงินประทุ นำโดยจีนที่ลดค่าเงินหยวนแรง ขณะที่การส่งออกไทยยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จะยิ่งมีแรงกดดันให้ผู้ดำเนินนโยบายออกมาตรการให้บาทต้องอ่อนค่าเพื่อประคองเศรษฐกิจ นอกจากนี้หากราคาน้ำมันกลับมาขึ้นแรงจากความไม่สงบในตะวันออกกลางด้วยแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกมาเป็นขาดดุล เงินสำรองระหว่างประเทศจะลดลง เกิดภาวะเงินไหลออกมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้บาทอ่อนค่าแรงได้ สถานการณ์ที่บาทจะไป 30 หากราคาน้ำมันลดลงแรง กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ และไม่ใช่แค่อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน แต่เป็นอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคต คนคาดว่าราคาสินค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงอีกนานหรืออาจลดลงได้อีก จะส่งผลให้คนไม่อยากลงทุน เพราะผลิตสินค้ามาขายก็อาจขาดทุน ไม่คุ้มรายจ่ายดอกเบี้ยที่กู้จากธนาคาร นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเข้มแข็ง โตได้ราว 2.5% ในปีนี้ก็อาจพลาดเป้า และอาจส่งผลให้จำใจต้องลดดอกเบี้ยกลับมาจุดเดิม หรืออาจออกมาตรการ QE4 อีกทั้ง หลังวิกฤติการเงินโลกปี 2008 ไม่เคยมีธนาคารกลางของประเทศสำคัญใด ที่ขึ้นดอกเบี้ยสำเร็จ สุดท้ายทุกประเทศที่เคยขึ้นดอกเบี้ยไปก็กลับมาลดดอกเบี้ยเพราะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งหากสหรัฐฯ เดินซ้ำรอยธนาคารกลางอื่น ก็อาจเห็นเงินไหลเข้ามาตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง แล้วในภาวะราคาน้ำมันต่ำเช่นนั้น ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด เพราะไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก มีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งใครๆ ก็อยากมาพักเงินไว้ในประเทศไทย ส่งผลให้บาทแข็งค่าได้ นายอมรเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะปีนี้ไม่เหมือนปีก่อน อย่าชะล่าใจว่าบาทจะอ่อนค่าในทิศทางเดียว ควรติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ