เด็กไทยเกินครึ่งเชื่อการลงโทษด้วยไม้เรียวทำให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม ได้ แต่ร้อยละ 62.07 คิดว่าควรใช้ทั้งการว่ากล่าวตักเตือน ควบคู่กับการตี

ข่าวทั่วไป Friday January 8, 2016 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของเด็ก-เยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการลงโทษของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยการตีโดยไม้เรียว ศ.ดร. ศรีศักดิ์ กล่าวว่า การตีโดยไม้เรียวถือเป็นวิธีการลงโทษวิธีหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ลงโทษบุตรหลานเมื่อกระทำความผิดมาตั้งแต่โบราณจนมีคำกล่าวที่ว่า "เด็กได้ดีเพราะไม้เรียว" ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการทำให้เด็กหลาบจำไม่กล้ากระทำความผิดอีก การตีโดยไม้เรียวยังจัดเป็นวิธีการลงโทษที่ไม่รุนแรงเกินไป แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการเกี่ยวกับเด็ก ผู้คนทั่วไปในสังคมหรือแม้กระทั่งพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียวว่าเป็นวิธีการลงโทษที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันเด็ก-เยาวชนควรได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียวเพื่อเป็นภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งให้กับสังคมได้รับทราบ ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2559 สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็ก-เยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการลงโทษของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยการตีโดยไม้เรียว โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 มกราคม พ.ศ. 2559 ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,131 คนซึ่งมีอายุระหว่าง 13 ถึง 20 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 50.66 และเป็นเพศชายร้อยละ 49.34 นั้นสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการถูกลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียว กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.81 ยอมรับว่าตนเองเคยถูกพ่อแม่ผู้ปกครองลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.19 ระบุว่าไม่เคย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 62.95 ระบุว่าตนเองไม่เคยกระทำผิดในเรื่องเดิมหลังจากที่ถูกลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียวอีก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.05 ยอมรับว่าตนเองเคยกระทำผิดอีก นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.52 ระบุว่าตนเองไม่เคยรู้สึกว่าถูกพ่อแม่ผู้ปกครองลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียวอย่างไม่มีเหตุผล ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.48 ยอมรับว่าเคยรู้สึก ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.12 ระบุว่าตนเองไม่เคยถูกพ่อแม่ผู้ปกครองลงโทษทางร่างกายด้วยวิธีอื่นๆนอกเหนือจากการตีโดยไม้เรียว เช่น การหยิก การตบหน้า การเตะ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.88 ยอมรับว่าเคย ในด้านความคิดเห็นต่อการลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียว กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.47 ร้อยละ 57.38 และร้อยละ 58.62 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียวจะมีส่วนทำให้เด็ก-เยาวชนไม่กล้ากระทำความผิดอีก จะมีส่วนช่วยทำให้เด็ก-เยาวชนเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคตได้ และจะมีส่วนทำให้เด็ก-เยาวชนมีระเบียบวินัยมากขึ้นได้ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 83.02 ไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงโทษเด็ก-เยาวชนด้วยการตีโดยไม้เรียวทันทีเมื่อกระทำความผิดโดยไม่มีการว่ากล่าวตักเตือนก่อน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 12.38 ที่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4.6 ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 62.07 มีความคิดเห็นว่าควรใช้ทั้งการลงโทษด้วยการว่ากล่าวตักเตือนและการลงโทษด้วยการตีโดยไม้เรียวควบคู่กัน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.75 มีความคิดเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการออกกฎข้อบังคับห้ามการลงโทษเด็ก-เยาวชนด้วยการตีโดยไม้เรียว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.88 มีความคิดเห็นว่าจำเป็น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.37 ไม่แน่ใจ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ