CITES ประชุมหารือ เสริมกำลังต่อสู้อาชญากรรมสัตว์ป่า

ข่าวทั่วไป Tuesday January 12, 2016 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--WWF ประเทศไทย เนื่องด้วยอาชญากรรมสัตว์ป่าที่มากขึ้นได้กลายเป็นวาระการประชุมที่สำคัญในการประชุมของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่จัดขึ้น ณ กรุงเจนีวา ในสัปดาห์นี้การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของคณะกรรมการในการประชุมครั้งนี้สามารถผลักดันความพยายามยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเหล่านี้ในระดับสากลได้ "การประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสครั้งที่ผ่านมาถือเป็นการประชุมที่มีประสิทธิผลที่สุดครั้งหนึ่ง แต่การประชุมที่กำลังจะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้จะต้องมีประสิทธิผลมากยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ ตราบเท่าที่เหล่าคณะกรรมการยังคงแน่วแน่และจริงจังในการดำเนินการเช่นเดิม" นายคาร์ลอส ดรูวส์ ผู้อำนวยการด้านงานอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ของโลกแห่ง WWF กล่าว โดยการประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 66 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 มกราคมนี้ จะเป็นการประชุมที่แน่นที่สุดจากทั้งสถิติผู้เข้าร่วมประชุมและวาระของการประชุมที่รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลากชนิดพันธุ์อย่าง ช้าง แรด เสือโคร่ง และฉลาม เนื่องจากในแต่ละปี มีช้างแอฟริกาถูกฆ่าเพื่อเอางากว่า 30,000 ตัว ทำให้ประเด็นการดำเนินการต่อต้านการค้างาช้างผิดกฎหมายถูกยกกลับมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติใน 19 ประเทศ และเขตปกครองที่ถูกระบุว่ามีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการค้างาช้างผิดกฎหมายนี้ "แผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับช้าง ซึ่ง WWF ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาการลักลอบล่าและค้าขายงาช้างผิดกฎหมาย" นายดรูวส์ หัวหน้าคณะผู้แทน WWF กล่าว "ถึงแม้ว่าในบางประเทศ อย่างประเทศไทย จะมีความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างมากแล้ว แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าประเทศใดทำได้ดีเพียงพอแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่แทบจะไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย" ในครั้งนี้ WWF ได้ยื่นรายการข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ CITES ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลแทนซาเนียและโมซัมบิก กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินงานตามแผนอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเรื่องบทลงโทษสำหรับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญา อย่างไนจีเรีย แองโกลา และลาว นอกจากนี้ คณะกรรมการยังจะปรึกษาหารือกันถึงวิกฤตการลักลอบล่าแรดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เหตุเพราะล่าสุดนามิเบียได้ออกมาประกาศว่าในปี 2558 ที่ผ่านมา ได้สูญเสียประชากรแรดให้กับการลักลอบล่าอย่างผิดกฎหมายถึง 80 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสถิติเดิมเพียง 25 ตัวในปีก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน รายงานเบื้องต้นเองก็บ่งชี้ว่าประชากรแรดในแอฟริกาใต้ถูกล่ามากกว่า 1,000 ตัว ติดต่อกันเป็นปีที่สามแล้วอีกด้วย "ถึงเวลาแล้วที่ CITES ควรจะเริ่มนำแนวทางดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ช้างมาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์พันธุ์แรด โดยเร่งผลักดันและกดดันให้เกิดการดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง" ดร. โคลแมน โอ คริโอเดน ผู้เชี่ยวชาญการค้าสัตว์ป่า ของ WWF กล่าว"อย่างเช่นประเทศเวียดนามและโมซัมบิก ที่ควรจะตกลงกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการต่อต้านการค้านอแรดผิดกฎหมายได้เสียที และเร่งดำเนินการลดอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศเวียดนาม " นอกเหนือจากการอนุรักษ์พันธุ์ช้างและแรด คณะกรรมการจะทำการหารือกันถึงปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การออกกฎระเบียบควบคุมการเพาะพันธุ์สัตว์ การเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายในประเทศเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์และการค้าขายชนิดพันธุ์หายากอย่างตัวนิ่มและเสือชีตาห์ รวมถึงการค้าไม้ผิดกฎหมายจากมาดากัสการ์อีกด้วย "การค้าไม้ซุงผิดกฎหมายอย่างพืชตระกูลไม้พะยูง และ พืชตระกูลไม้พลับจากมาดากัสการ์นั้นร้ายแรงเทียบเท่ากับการค้างาช้างผิดกฎหมายจากแอฟริกา" ดร. โอ คริโอเดน กล่าว "มาดากัสการ์จะต้องเร่งหยุดยั้งการค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ หรือถูกคว่ำบาตรการค้าภายใต้อนุสัญญา CITES"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ