ปภ. แนะวิธีป้องกัน – รับมือ – ลดผลกระทบปัญหาหมอกควัน

ข่าวทั่วไป Monday January 18, 2016 12:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนป้องกันและ ลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ด้วยการกำหนดเขตห้ามเผาและช่วงเวลาในการเผา รวมถึงไม่ประกอบกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ กรณีมีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูก หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุม เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า หมอกควันเป็นปัญหาสำคัญที่มีสาเหตุหลักจากการจุดไฟเผาในพื้นที่ โดยเฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งมักประสบวิกฤตหมอกควัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนเป็นประจำทุกปี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกะทะ รวมถึงความกดอากาศสูงที่แผ่ปกคลุมพื้นที่เป็นเวลานานจนเกิดสภาวะกักควัน ทำให้ไออากาศร้อนไม่สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ ส่งผลให้ปัญหาหมอกควันรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและ ระบบนิเวศน์ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (ปภ.) ขอแนะการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ดังนี้ กำหนดเขตห้ามเผาและช่วงเวลาในการเผา เพื่อลดการสะสมของเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ที่มักเกิดวิกฤตหมอกควัน อีกทั้งสลับเวลาเผาและชิงเผาก่อนเกิดวิกฤตหมอกควัน เพื่อไม่ให้เกษตรกร เผาวัชพืชเตรียมพื้นที่การเกษตรในช่วงเวลาเดียวกัน จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ไม่ประกอบกิจกรรม ที่เพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ โดยไม่เผาขยะ ไม่จุดธูปเทียน ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงลดการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพื่อลดปริมาณละอองหมอกควันที่ลอยขึ้นสู่อากาศ ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงมากขึ้น กรณีมีหมอกควัน ปกคลุมพื้นที่ให้ปฏิบัติ ดังนี้ ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก เพื่อช่วยดูดซับฝุ่นละอองและป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดหรือนำผ้าชุบน้ำอุดตามช่องต่างๆ ที่หมอกควันสามารถเข้าสู่บ้านเรือน หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก เป็นต้น เพราะร่างกายจะเหนื่อยและหายใจเร็ว ส่งผลให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก เพิ่มความระมัดระวัง ในการสัญจรผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุม เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน โดยเปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่เปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ไม่แซงในระยะกระชั้นชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ