“ฉัตรชัย” ชี้ฝนหลวงได้ผลดีพบปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ วันละกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร สั่งติดตามสภาพความชื้นในอากาศเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนบรรเทาภัยแล้งต่อเนื่อง พร้อมเร่งทุกหน่วยงานสแกนสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบภัยหนาว

ข่าวทั่วไป Thursday January 28, 2016 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่สำรวจว่าสินค้าเกษตรตัวไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากภัยหนาวที่เกิดขึ้น ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เพื่อจะเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างทันต่อสถานการณ์ สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนหลักนั้น ตามที่ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรติดตามสภาพอากาศและเตรียมพร้อมที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวงทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งจากการคาดการณ์สภาพอากาศเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมาพบว่า ระหว่างวันที่ 20 – 24 มกราคม 2559 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อีกทั้งมีกระแสลมฝ่ายตะวันตกในระดับสูงจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สภาพอากาศเช่นนี้เป็นโอกาสดีเอื้ออำนวยที่จะทำฝนบริเวณภาคกลางได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 ชุด ในวันที่ 20 มกราคม 2559 และเพิ่มเติมในวันที่ 22 มกราคม อีก 1 ชุด เข้าประจำการที่สนามบินนครสวรรค์ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 มีเครื่องบิน CASA จำนวน 2 เครื่อง ชุดที่ 2 มีเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 เครื่อง ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำลงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ลุ่มน้ำทับเสลา และลุ่มน้ำลำตะคอง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์และบางส่วนของลพบุรี ซึ่งจากการปฏิบัติการพบว่ามีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ฝนหลวงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาวะอากาศเหมาะสมก็พร้อมปฏิบัติการทันที "หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเป็นการปฏิบัติการเฉพาะกิจ นอกแผนปฏิบัติการและระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่ต่อเนื่อง (ตามการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) โดยใช้เครื่องบินฝนหลวงซึ่งปัจจุบันได้ประจำการอยู่ที่สนามบินนครสวรรค์เพื่อการซ่อมบำรุงและการฝึกบินทบทวนของนักบินประจำปี ทั้งนี้ เมื่อได้รับรายงานถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในพื้นที่เป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 – 5 วัน เช่น เมื่อวันที่ 25 - 26 ม.ค. สภาพอากาศก็ไม่สามารถทำฝนหลวงได้ แต่ชุดปฏิบัติการข้างต้นจะออกปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าวทันที เมื่อเสร็จภารกิจ ชุดปฏิบัติการจะกลับประจำการ ณ สนามบินนครสวรรค์ตามเดิม" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด ว่า (26 ม.ค. 59) ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,197 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกัน 5.48 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.90 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 59 รวมกันจำนวน 3,501 ล้านลูกบาศก์เมตร (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย. 58 – 30 มิ.ย. 59) ขณะที่ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(26 ม.ค. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,367 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ(แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การได้ถึงเดือนเมษายน 59 ประมาณ 1,533 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี) ทั้งนี้ ในส่วนการของเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,772,000 ไร่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับปี 57/58 อันเนื่องมาจากการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรฯ และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ ยังคงย้ำขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย ในส่วนของ ผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด(ณ 21 ม.ค. 59) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 68,025 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,084.86 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 18,114 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,337 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 45,574 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ