ราชภัฏโคราชเปิดโลกดึกดำบรรพ์ จัดมหกรรมฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 3

ข่าวทั่วไป Thursday January 28, 2016 11:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดพิธีเปิดงานมหกรรมฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อโคราช...มหานครแห่งบรรพชีวิน ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมืองจ.นครราชสีมา โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน จากนั้นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดนิทรรศการโคราช...มหานครแห่งบรรพชีวิน ถิ่นอุทยานธรณี แล้วจึงเป็นการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดการแต่งกลอน ในหัวข้อ "โคราช...มหานครแห่งบรรพชีวิน" ระดับมัธยมศึกษา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา งานมหกรรมฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-24 มกราคม 2559 ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการช้างดึกดำบรรพ์ใหญ่ที่สุดในโลก นิทรรศการอิกัวโนดอนต์ นิทรรศการโคราช...พันธุ์ใหม่ของโลก นิทรรศการไดโนยักษ์ใหญ่ใจดีจากจูราสสิค เวิลด์ นิทรรศการมหานครแห่งบรรพชีวิน ถิ่นอุทยานธรณี กิจกรรมเล่นเกมเสริมสร้างทักษะ อาทิ กิจกรรมกำเนิดฟอสซิล ระบายสีมาสคอต ตะลุยโลกดึกดำบรรพ์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันแฟนคลับพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ การประกวดวาดภาพระบายสี หัวข้อ "มหัศจรรย์โลก ดึกดำบรรพ์" การประกวดหนูน้อยแฟนซี (โลกดึกดำบรรพ์) การประกวดเทพีช้างงาจอบ "Miss Queen Prodeinotherium 2016" และการประกวดภาพถ่ายในงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 3 "โคราช...มหานครแห่งบรรพชีวิน" ประจำปี 2559 สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ถึงคุณค่าของทรัพยากรซากดึกดำบรรพ์ และทรัพยากรธรณี ให้ประชาชน เยาวชนภายในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง เกิดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องบรรพชีวินวิทยา ลักษณะรูปร่างความเป็นอยู่ ประวัติ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยข้อมูลหรือร่องรอยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกให้กับผู้เข้าเยี่ยมชมงาน ได้รู้จักอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ และร่วมกันประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินให้เป็นที่รู้จักสู่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ