ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “บ. พีทีจี เอ็นเนอยี” ที่ “BBB/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 1, 2016 09:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประวัติการดำเนินงานของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่าย และการมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่มีอัตรากำไรต่ำ ตลอดจนความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ (Supplier) และการแทรกแซงจากภาครัฐในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเอาไว้ได้ และคาดว่าบริษัทยังคงสามารถบริหารและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วงการขยายธุรกิจได้ ปัจจัยหลักที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้แก่ กรณีที่ค่าการตลาดของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน หรือ กรณีที่บริษัทไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ การลงทุนจำนวนมากที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น สูงเกินกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทอีกด้วย ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้แก่ กรณีที่กระแสเงินสดจากการดำเนินการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือ กรณีที่บริษัทประสบความสำเร็จในการกระจายแหล่งรายได้ บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี ก่อตั้งในปี 2531 ภายใต้ชื่อ บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด โดยประกอบกิจการศูนย์จำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ต่อมาในปี 2535 บริษัทได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปโดยการเปิดสถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายการค้า "PT" บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556 โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มครอบครัวรัชกิจประการ (33.7%) นายศักดิ์อนันต์ วิจิตรธนารักษ์ (16.0%) และกลุ่มครอบครัววชิรศักดิ์พานิช (8.9%) โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทบริหารสถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายการค้า "PT" ทั่วประเทศจำนวน 1,095 แห่ง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5% ของจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดในประเทศไทย สถานะทางธุรกิจของบริษัทเป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นภายในประเทศเพื่อนำมาจำหน่ายต่อผ่านช่องทางจำหน่ายของบริษัท ปัจจุบันบริษัทซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเกือบทั้งหมดจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ณ สถานีบริการน้ำมัน "PT" ผ่าน 2 ช่องทาง โดยช่องทางแรกเป็นสถานีที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง (Company owned company operated -- COCO) และช่องทางที่ 2 เป็นสถานีที่ตัวแทนจำหน่ายเป็นเจ้าของและดำเนินการ (Dealer owned dealer operated -- DODO) บริษัทยังจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปโดยตรงให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอีกด้วย บริษัทเน้นการขยายเครือข่ายบริการผ่านสถานีบริการ COCO ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อื่น ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณรวมทั้งสิ้น 1,645 ล้านลิตร โดยประมาณ 74% ของปริมาณที่จำหน่ายดำเนินการผ่านสถานีบริการ COCO ในขณะที่ประมาณ 13% จำหน่ายผ่านสถานีบริการ DODO ส่วนที่เหลืออีก 13% จำหน่ายโดยตรงให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมาจากระบบการจัดการการขนส่งน้ำมันและการบริหารสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ โดยบริษัทเป็นเจ้าของรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 352 คัน และมีศูนย์ส่งน้ำมันสำเร็จรูป (คลังน้ำมัน) จำนวน 9 แห่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทยังคงแผนการขยายสถานีบริการอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 บริษัทมีสถานีบริการทั้งสิ้น 1,150 แห่ง เพิ่มขึ้น 199 แห่ง จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสถานีบริการที่บริษัทเป็นเจ้าของ บริษัทมีกลยุทธ์ในการส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปให้เพิ่มขึ้นผ่านระบบบัตรสมาชิก PT MAX Card โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีจำนวนสมาชิก PT MAX Card ทั้งสิ้น 3.4 ล้านราย ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลงส่งผลให้อุปสงค์ในการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 การใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีจำนวน 29,363 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้นผนวกกับการขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมันของบริษัทส่งผลให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปได้ถึง 1,645 ล้านลิตร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 24.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขณะที่บริษัทยังคงรักษาระดับค่าการตลาดโดยรวมไว้ได้ที่ 1.60 บาทต่อลิตรแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงก็ตาม ส่งผลให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1,150 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 21.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทเน้นการเช่าสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่เดิมแทนการสร้างใหม่ อย่างไรก็ตาม การขยายสถานีบริการ COCO อย่างรวดเร็วทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีเงินกู้รวม 1,365 ล้านบาท หรือ 3,052 ล้านบาทเมื่อปรับปรุงด้วยภาระผูกพันจากการเช่าสถานีบริการ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงแล้ว) สูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 44.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 จาก 36.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 แม้ว่าจะมีภาระหนี้เพิ่ม แต่บริษัทก็ยังคงมีสภาพคล่องและกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ในระดับที่ดี บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (ปรับปรุงด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) เท่ากับ 45.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2555-2557 ซึ่งอยู่ที่ 30%-60% อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 9.3 เท่า (ปรับปรุงแล้ว) ใกล้เคียงกับในช่วงปี 2555-2557 ที่อยู่ระดับ 8.9-10.9 เท่า ในช่วงปี 2559-2561 บริษัทมีแผนการขยายสถานีบริการ COCO จำนวน 300-400 แห่งต่อปี คาดว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันจะอยู่ที่ 2,800-3,500 ล้านบาทต่อปี บริษัทได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2558 มีการลงทุนในโครงการปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร (Palm Complex) และในปี 2559 บริษัทมีแผนการลงทุนในบริษัท อาม่า มารีน จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจบริษัทขนส่งของเหลวขนาดใหญ่มูลค่า 622 ล้านบาท และจะลงทุนใน บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด มูลค่า 398 ล้านบาท การลงทุนดังกล่าวจะทำให้เงินลงทุนรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระว้ง สามารถควบคุมให้อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า ในระยะกลางถึงระยะยาว บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) อันดับเครดิตองค์กร: BBB แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ