โครงการจัดงานมหกรรมเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม 2544

ข่าวทั่วไป Friday November 30, 2001 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สำนักโฆษก
โครงการจัดงานมหกรรมเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม 2544
๑. หลักการและเหตุผล
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดทำโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ จำนวน ๔๘ เพลง แบ่งตามประเภทวงดนตรี ๖ ประเภท ได้แก่ วงขนาด ๑๖ ชิ้น (Big Band) วงขับร้องประสานเสียงและวงสตริงออร์เคสตรา วงแจ๊สดิ๊กซีแลนด์ วงโยธวาทิต วงออร์เคส ตรา และเปียโนสองมือ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพรเกียรติและเผยแพร่พระปรีชาสามารถ รวมทั้งพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีให้พสกนิกรชาวไทย และชาวต่างประเทศทราบอย่างกว้างขวางและเพื่อให้นักเรียบเรียงเสียงประสานของไทยได้มีโอกาสจัดทำโน้ตเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์ โดยการเผยแพร่โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ดังกล่าว ให้วงดนตรีสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศนำไปบรรเลงได้อย่างไพเราะถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการศึกษาด้านดนตรีของเยาวชนไทยในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งนักดนตรีชาวไทย ให้เจริญก้าวหน้าตามมาตรฐานสากลอีกด้วย
ในปี ๒๕๔๓ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้จัดกิจกรรมหลายรูปแบบเพื่อเผยแพร่โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง ได้แก่ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ การจัดทำแผ่นซีดีประกอบโน้ตเพลง การจัดนิทรรศการ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ครูผู้สอนดนตรี นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจได้รับความรู้ความเข้าในเพลงพระราชนิพนธ์ เข้าใจในด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน ศาสตร์และศิลป์ในการสังคีตปฏิภาณ สามารถนำโน้ตเพลงไปบรรเลงได้เป็นอย่างดีและถูกต้อง ได้รับความรู้และพัฒนาทักษะด้านดนตรี ประเภทวงบิ๊ก แบนด์ วงแจ๊ส และเปียโน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาใช้เครื่องดนตรีที่มีอยู่แล้วจัดกิจกรรมดนตรีให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวมต่อไปได้
เพื่อเป็นการขยายผลงานเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกสู่สายตาประชาชนทุกหมู่เหล่า และเป็นการแสดงความจงรักภักดี จึงเห็นควรจัดงานมหกรรมเพลงพระราชนิพนธ์ขึ้น เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยมีกิจกรรมด้านดนตรีต่าง ๆ ได้แก่ การแสดงคอนเสิร์ตและการสาธิตดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและแสดงผลงานสื่อโสตทัศน์ด้านดนตรีทุกรูปแบบ การออกร้านดนตรีทุกประเภท ทั้งนี้เป็นการจัดงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
๒. วัตถุประสงค์
งานมหกรรมเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๓-๘ ธันวาคม ๒๕๔๔ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
๒.๑ เพื่อเฉลิมพระเกียติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็น “อัครศิลปิน” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔
๒๒ เพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๒.๓ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิชาดนตรี และสร้างความเข้าใจในลีลา เนื้อหาของเพลงพระราชนิพนธ์ ให้กับผู้นำโน้ตเพลงไปบรรเลง
๒.๔ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ตลอดจนประสบการณ์ในการบรรเลงดนตรีและใช้กิจกรรมดนตรี ในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยทั้งด้านสติปัญญา และสังคม
๒.๕ เพื่อเสริมสร้างและกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ พัฒนาวงดนตรีและวงขับร้องประสานเสียงในการบริการสังคมโดยส่วนรวม เป็นการประชาสัมพันธ์สถาบันการศึกษาสู่ชุมชน
๒.๖ เพื่อพัฒนาคุณภาพจิตใจ คุณธรรมและจริยธรรมของเยาวชน โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ และส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี ความรักใคร่กลมเกลียว ปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะได้
๓. รูปแบบการจัดกิจกรรมในงานมหกรรมเพลงพระราชนิพนธ์
๓.๑ จัดให้มีพิธีเปิดงานมหกรรมเพลงพระราชนิพนธ์ฯ ในวันจันทร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๔ โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงานและถ่ายทอดออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
๓.๒ จัดแสดงคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ ๖ ประเภท ได้แก่ วงบิ๊กแบนด์ วงขับร้องประสานเสียงและวงสตริงออร์เคสตรา วงแจ๊สดิ๊กซีเลนด์ วงซิมโฟนิคแบนด์ วงสตริงออร์เคสตรา และเปียโนสองมือ
๓.๓ จัดให้มีการสาธิตการบรรเลงดนตรี ๖ ประเภท
๓.๔ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้านดนตรี มีเนื้อหาประกอบด้วยพระราชประวัติด้านดนตรีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ประวัติกำเนิดวงดนตรีกิตติมศักดิ์ การเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศด้วยดนตรี การแสดงโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลงรวม ๔๘ เพลง เอกสารสิ่งพิมพ์ทุกประเภทด้านดนตรี แผ่นซีดี แถบบันทึกเสียง สื่อโสตทัศน์ต่าง ๆ ทุกรูปแบบ ได้แก่ ภาพยนตร์ วิดีโอเทป เครื่องเล่นซีดี คอมพิวเตอร์ และสารคดีด้านดนตรีชุดต่าง ๆ ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการชมฟรี เช่น คีตราชัน อัครศิลปิน และชุดดนตรีจากพระราชหฤทัยศูนย์รวมใจแห่งปวงชน
๓.๕ การออกร้านดนตรีทุกประเภท ได้แก่ ร้านเครื่องดนตรี ร้านหนังสือ และโน้ตดนตรี ร้านแถบบันทึกเสียง ซีดี วีซีดี คอมพิวเตอร์ ตลอดจนร้านซ่อมเครื่องดนตรี
๔. ผู้รับผิดชอบ
คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมเพลงพระราชนนิพนธ์ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
๕. งบประมาณ ๓,000,000 บาท
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยงานภาคเอกชนอื่นที่ร่วมสนับสนุนโครงการ
๖. สถานที่
๖.๑ การแสดงคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
๖.๒ การแสดงสาธิตดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ ณ หอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
๖.๓ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้านดนตรี ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียนศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะเวลา ๑ เดือน
๖.๔ การออกร้านดนตรี ณ บริเวณด้านหน้าหอประชุมเล็ก ลานกลางแจ้ง และบริเวณทางเดินด้านหน้าหอประชุม
๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๗.๑ ครูดนตรี นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๗.๒ เป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาใช้กิจกรรมดนตรี โดยใช้เครื่องดนตรีที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ในการนำไปบรรเลงเพื่อสังคมได้
๗.๓ ทำให้มีการพัฒนาดนตรีของประเทศก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้าตามมาตรฐานสากล
๗.๔ ผู้มีความสามารถทางดนตรี มีความเข้าใจในเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงแจ๊สมากขึ้น และยังเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาดนตรี เพื่อประกอบอาชีพในอนาคต
นิทรรศการมหกรรมเพลงพระราชนิพนธ์วันที่ ๓-๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๔
การจัดนิทรรศการ แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
๑. ส่วนนิทรรศการภาพ เนื้อหาประกอบด้วย
- พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านดนตรี
- ประวัติกำเนิดวงดนตรีกิตติมศักดิ์
- การเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศด้วยดนตรี
- การจำลองเวทีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ โดยใช้เครื่องเล่นดนตรีจริงมาจัดแสดงให้รู้ตำแหน่งและเครื่องเล่นดนตรีต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๒. ส่วนนิทรรศการด้านโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ ๔๘ เพลง แบ่งตามประเภทวงดนตรี ๖ ประเภทประกอบด้วย
-โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์สำหรับวงขนาด ๑๖ ชิ้น บิ๊กแบนด์ (Big Band)
-โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์สำหรับวงขับร้องประสานเสียงและวงสตริงออร์เคสตรา
- โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์สำหรับวงดิ๊กซีแลนด์
- โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์วงโยธวาทิต
- โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์สำหรับวงออร์เคสตรา
-โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์สำหรับเปียโนสองมือ
๓. นิทรรศการห้องฉายวีดิทัศน์ ประกอบด้วย
- จัดฉายวีดิทัศน์เรื่อง “คีตราชัน”
- จัดฉายวีดิทัศน์เรื่อง “อัครศิลปิน”
-จัดฉายวีดิทัศน์เรื่อง “ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน”
๔. ส่วนนิทรรศการด้านหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ประกอบด้วย
- จัดแสดงโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
- จัดแสดงแผ่นซีดีจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
- บริการจัดเครื่องเล่นพร้อมหูฟังซีดีและวิซีดีให้แก่ผู้ที่สนใจได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง ๔๘ เพลง
หมายเหตุ มีบริการเครื่องถ่ายเอกสารสำหรับผู้ที่สนใจจะถ่ายเอกสารโน้ตเพลงและ Score เพลงพระราชนิพนธ์ภายในงานด้วย--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ