จิตแพทย์ ชี้!! คนขี้เหงาเข้าข่ายเป็น“โรคขาดรัก”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 16, 2016 12:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--กรมสุขภาพจิต จิตแพทย์ ชี้!! คนที่รู้สึกเหงาตลอดเวลา ชอบเรียกร้องความสนใจ เห็นใครดีกว่าไม่ได้ ไม่ชอบอยู่คนเดียว สามารถสานสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเพศตรงข้ามและยอมมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว หึงหวงรุนแรง ไม่สามารถรักษาความรักไว้ได้ ฯลฯ เข้าข่ายเป็น "โรคขาดรัก" ระบุ...โรคนี้เป็นเพียงความรู้สึกสามารถรักษาได้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและอธิบายว่า โดยปกติมนุษย์ทุกคนย่อมรักตัวเอง ความรักถือเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตช่วยให้ดำรงชีวิตและทำภารกิจในสังคมได้เป็นปกติ มนุษย์ทุกคนล้วนรู้สึกว่า อยากจะรักหรือเป็นที่รัก ต้องการความรักความใส่ใจจากบุคคลที่รัก แต่สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าขาดและอยากได้ความรักอยู่ตลอดเวลาแบบนี้เรียกว่าเข้าข่ายเป็น "โรคขาดรัก" เป็นคนที่มักมีมุมมองและการดำเนินชีวิตที่ไขว่คว้าหาความรักจากคนอื่น ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองคนเดียว ต้องให้มีคนมาสนใจและต้องเป็นบุคคลสำคัญเสมอ ไม่ชอบเห็นคนอื่นได้ดีหรือเด่นกว่า อาจรู้สึกอิจฉา มีความผิดปกติในการแสดงออกด้านความรักคือมีรักแล้วไม่สามารถรักษาไว้ได้ ดูแลคู่รักไม่เป็น แสดงออกรุนแรงประชดประชัน หึงหวงรุนแรง รู้สึกเหงามากตลอดเวลาไม่ชอบการถูกทิ้งไว้คนเดียว ต้องการความสนใจจากคนอื่น จึงเรียกร้องความสนใจหรือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ คนที่รู้สึกขาดรักไม่ได้มีผลเพียงความรู้สึก แต่มีผลต่อวิธีคิดและการแสดงออกต่อการใช้ชีวิตในสังคม บางคนเศร้ามากถึงขั้นทำร้ายตัวเองเลยก็มี สาเหตุของการเป็นคนขาดรักเกิดได้จากขาดความอบอุ่นในครอบครัว ปัญหาการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการขาดรัก เมื่อย้อนกลับไปดูในวัยเด็ก มักเติบโตมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น หรือจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีความสุขจากชีวิตสมรส แล้วผลักเอาความรู้สึกที่ไม่มีความสุขไปที่ลูก หรือมาจากการไม่มีครอบครัวเลี้ยงดูไม่เคยสัมผัสความรักแบบลึกซึ้ง เด็กจึงเติบโตมาด้วยการขาดความรัก โดยเฉพาะสังคมในปัจจุบันที่ทุกคนในครอบครัวมีหน้าที่ที่ต้องทำ พ่อแม่ต้องทำงาน ลูกที่ยังเล็กต้องอยู่ในความดูแลของพี่เลี้ยงหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก กระบวนการเลี้ยงดูที่ไม่ได้ใส่ความรักความเอื้ออาทรลงไป ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาพร้อมกับอาการเป็นเด็กขาดความรักได้เช่นกัน ซึ่งตามหลักวิชาการ เด็กสามารถแยกแยะและสัมผัสความรักได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรกหลังคลอด เริ่มแยกออกระหว่างพ่อแม่กับคนแปลกหน้า เมื่อมีบุคคลแปลกหน้ามาอุ้มเด็กจะมีปฏิกิริยาปฏิเสธทันที เด็กจะเรียนรู้ความรักความผูกพันจากกระบวนการเลี้ยงดูของพ่อแม่ การอุ้ม การกอด การหยอกล้อด้วยน้ำเสียงเอื้ออาทร การป้อนข้าว การส่งสายตา จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข และรับรู้โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายว่า ความรักคืออะไร ความรักเท่ากับอะไร เพราะประสบการณ์ความรักของพ่อแม่หล่อหลอมเขามาตั้งแต่เด็ก พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีการสังเกตว่าใครเป็นโรคขาดรักหรือมีอาการขาดรักหรือไม่นั้น ถ้าเป็นเด็กเบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากการแสดงออกของเด็กในการพบปะคนแปลกหน้า เพราะลักษณะเด่นชัดคือการไม่กลัวคนแปลกหน้าและวิ่งเข้าหา ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับเด็กปกติที่มักจะปฏิเสธและไม่ให้คนแปลกหน้าเข้าใกล้ หรือไม่ให้จับต้องเนื้อตัว แต่ถ้าเป็นเด็กที่ขาดรักจะเปิดโอกาสให้คนแปลกหน้าเข้ามาใกล้ชิด เมื่อเริ่มโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นสามารถสานสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเพศตรงข้ามและยอมมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วเพราะคิดว่าเป็นการแสดงถึงความรักและกลัวเขาไม่รัก จึงมีเวลาศึกษากันและกันน้อย ทำให้เกิดปัญหาตามมา คนที่มีอาการขาดรักจะมีแนวโน้มเป็นคนเรียกร้อง อยากได้มากขึ้นเรื่อยๆทำให้คู่รักเกิดความเอือมระอาเพราะไม่เข้าใจ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะกันและเลิกรากันในที่สุด มักเป็นคนขี้เหงาทำให้ต้องแสวงหาและเริ่มต้นมีความรักครั้งใหม่เสมอๆแต่ไม่สามารถรักษาความรักไว้ได้ ทำให้ผิดหวังซ้ำๆ หลายคนท้อแท้และทำร้ายตัวเองหรือประชดชีวิต ใช้ชีวิตในด้านลบ หลายคนต้องเสียอนาคตและเข้าสู่สังคมด้านมืด ถ้าถามว่าผู้ที่มีอาการขาดรักต้องได้รับการรักษาไหม ก่อนอื่นคนที่ขาดรักต้องยอมเปิดใจว่าหลายอย่างเป็นปัญหากับชีวิต ทำให้ตัวเองและคนรอบข้างไม่มีความสุข และควรทำความเข้าใจว่าอาการขาดรักเป็นเพียงความรู้สึก สิ่งที่ควรทำคือ 1.กลับมาที่ตัวเองที่ปัจจุบัน เพราะไม่สามารถย้อนกลับไปในวัยเด็กได้อีก เหตุการณ์ในวัยเด็กคือประวัติศาสตร์ เป็นอดีต วันนี้เราอยู่กับปัจจุบัน ควรเดินไปข้างหน้า ควรรักตัวเอง การเริ่มรักตัวเองคือการหยุดอะไรที่เป็นการทำร้ายตัวเอง เติมความรักให้กับตัวเองโดยไม่ต้องรอใครมาเติมความรักให้ 2.หยุดความคิดที่จะอยากได้ เลิกคิดไขว่คว้าสิ่งที่อยู่ไกลตัว แต่อยู่กับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือที่เป็นตัวตนของเรา ซึ่งจะช่วยให้เราจิตใจเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าพยายามแล้วไม่สามารถทำจิตใจให้เข้มแข็งได้ ให้เปิดใจที่จะบำบัดตัวเอง กรมสุขภาพจิตมีผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยบำบัดความรู้สึกขาดรักได้ การเข้าสู่กระบวนการรักษาสามารถหาร่องรอยความรู้สึกในใจ และช่วยให้ผู้ขาดรักสามารถเดินออกจากวงกลมในอดีต เดินไปข้างหน้า ใช้ชีวิตให้มีความสุขด้วยความรักที่แท้จริงด้วยตัวเองได้ " ความรักเป็นความรู้สึก ขาดหรือไม่ขาด ก็คือความรู้สึก ทั้งสองเรื่องเป็นความรู้สึก คนที่เติมความรู้สึกเราได้ทันทีคือตัวเราเอง เมื่อไหร่ที่อยู่กับความรักและรักตัวเราเองได้ ให้เติมความสวยงามกับตัวเราเองให้ได้ไม่ว่าด้านใดก็ตาม ใจด้านความรักที่มีความสวยงามมันจะโต และเมื่อไหร่ความรักด้านความสวยงามโต ความรู้สึกขาดรักมันจะลดลงเรื่อยๆ" พญ.พรรณพิมล กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ