ผู้ว่าฯ เมืองกาญจน์ รุกส่งเสริมการท่องเที่ยว เปิดตลาดโต้รุ่งเชื่อมถนนคนเดินปากแพรก

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday February 17, 2016 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--ประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ว่าฯกาญจนบุรี รุกส่งเสริมการท่องเที่ยวเปิดตลาดโต้รุ่งเชื่อมถนนคนเดินปากแพรก ถนนเก่าสายแรกเมืองกาญจน์ ระดมโรงแรม รีสอร์ต บริษัทนำเที่ยว บรรจุโปรแกรมแวะชมถนนคนเดินปากแพรก พร้อมรณรงค์ปลุกจิตสำนึกประชาชน เยาวชนหวงแหนถิ่นเก่าบรรพบุรุษ ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ใจกลางเมือง นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยขณะนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมถนนคนเดินปากแพรกถนนเก่าสายแรกของจังหวัดกาญจนบุรีว่า กาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นในตัวเองที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมกาญจนบุรีมีเรื่องเล่ามากมายจากอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีประวัติมายาวนาน อาทิเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแคว หรือสงครามเก้าทัพ นายศักดิ์กล่าวว่า ทางสำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับท่องเที่ยวและกีฬา จ.กาญจนบุรี จัดทำ "โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวถนนปากแพรก" ถนนเก่าแก่ตั้งแต่ยุคก่อตั้งเมืองกาญจนบุรี เมื่อราว 185 ปีก่อนเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี และสร้างรายได้ให้กับชุมชนพร้อมพัฒนาคุณภาพ และยกระดับถนนปากแพรกถนนสายแรกของเมืองกาญจนบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยรายละเอียดโครงการนั้น ทางจังหวัดได้ร่วมมือกับหน่วยงานเอกชน และชุมชนในท้องถิ่นจัดให้มีการประชุมกระบวนการมีส่วนร่วม เน้นการปลุกจิตสำนึกหวงแหนถิ่นเก่าบ้านเกิดให้คงอยู่ และพร้อมที่จะถ่ายทอดสู่รุ่นต่อๆไป รวมไปถึงเผยแพร่สู่นักท่องเที่ยวอย่างภาคภูมิใจ โครงการดังกล่าวจะทำการเชื่อมโยง 2 ตลาดเข้าด้วยกัน คือ ตลาดโต้รุ่งที่ทันสมัย และถนนปากแพรก โดยถนนปากแพรกทำการจัดโครงการถนนคนเดินขึ้น จัดให้มีร้านค้าชุมชนตลอดเส้นทาง ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีการพัฒนาตลาดโต้รุ่งให้มีความสะอาด มีระเบียบ และจัดให้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมในทุกเย็นวันเสาร์เมื่อนักท่องเที่ยวเดินต่อมา ก็จะเจอถนนปากแพรกถนนคนเดิน ที่จะมีร้านค้าชุมชนสินค้าพืชผักปลอดสารพิษเกษตรอินทรีย์ พร้อมอิ่มอร่อยกับอาหารการกินโบราณอาหารพื้นเมืองเลื่องชื่อ ที่หาได้ไม่ง่ายนักในสมัยนี้เรียงราย 2 ข้างถนน และพบกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหมุนเวียนกันไปในทุกวันเสาร์ เช่นกัน ในช่วงแรกกำหนดจัดขึ้นเฉพาะวันเสาร์ก่อนโดยเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการปิดถนนหลักเมือง (หน้าจวน) และเพิ่มเติมแสงสว่างเชื่อมโยงให้มองเห็นตั้งแต่ตลาดโต้รุ่งจนถึงถนนคนเดินปากแพรก นายศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีการประชุมหารือร่วมกันกับหลายหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิเทศบาลเมือง สนง. ท่องเที่ยวและกีฬา สนง.ททท.จ.กาญจนบุรี สนง.พัฒนาชุมชน ตัวแทนชุมชน รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ต บริษัททัวร์ท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อช่วยระดมความคิดเห็น และเป็นแนวร่วมในการช่วยกันผลักดัน อาทิบริษัททัวร์ให้มีการทำโปรแกรมท่องเที่ยวแวะเดินชมถนนคนเดินปากแพรก ส่วนโรงแรม รีสอร์ตให้มีการแนะนำนักท่องเที่ยวที่เข้าพักให้รู้จักถนนคนเดินปากแพรก หรือมีรถรับส่งเพื่อมาเดินเที่ยวชมในถนนปากแพรกด้วยเช่นกัน " ในส่วนของพัฒนาชุมชน และตัวแทนชุมชนต่างๆ ให้ร่วมกันหาจุดเด่นของชุมชนนั้นๆ ทั้งอาหาร สินค้า รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อมาร่วมสนับสนุนให้ถนนคนเดินปากแพรกมีจุดเด่นมากขึ้น ซึ่งจะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแล้วเห็นว่าถนนคนเดินปาแพรก มีจุดเด่นที่แตกต่าง และไม่น้อยหน้าถนนคนเดินอื่นๆ จุดนี้แหละจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กับมาเที่ยวต่อ หรือบอกต่อเพื่อนฝูงญาติมิตรให้ลองมาเที่ยวชมได้ "นายศักดิ์ กล่าว ถนนปากแพรก ซึ่งเป็นถนนสายแรกของจังหวัดกาญจนบุรี ที่ย้ายกาญจนบุรีเก่า จากท่าเสา ลาดหญ้า มาสร้างเมืองกาญจนบุรีใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2374 ณ บริเวณปากแพรก ซึ่งเป็นจุดที่ลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง สมัยนั้น ทั้งสถานที่ราชการและบ้านพักราชการจะถูกสร้างอยู่ภายในกำแพงเมือง ขณะที่ประชาชนทั่วไปมักสร้างบ้านเรือนนอกกำแพง เรียงรายกันไปตามแนวกำแพง ที่เป็นถนนปากแพรกในปัจจุบัน ถนนปากแพรก นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นย่านที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) ประสูติ และผนวช ณ วัดเทวสังฆาราม รวมถึงบุคคลสำคัญของประเทศอาทิ นายแพทย์ประเวศ วะสี และนายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้ได้รับฉายา "วีรบุรุษสงครามของรถไฟสายมรณะ" ก็เกิดย่านนี้ ตลอดจนพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศไทย แต่ที่น่าสนใจที่สุดของชุมชนและถนนสายนี้ก็คือ เรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผู้คนย่านนี้ต่างมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สงครามและช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตมาได้ด้วยดี อย่างบ้านคุณบุญผ่อง แอนด์บาร์เดอร์ (สิริโอสถ) แต่เดิมเป็นร้านขายของชำ ทหารญี่ปุ่นได้มาซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งได้ขนของช่วยเชลยไปส่งที่ค่ายญี่ปุ่น ทำให้เห็นความยากลำบากของเชลยต่างชาติที่ถูกเกณฑ์มาทำทางรถไฟ จึงแอบช่วยอย่างลับ ๆ มาโดยตลอด เช่น แอบส่งยารักษาโรคมาลาเรียน เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือสื่อสาร ตลอดจนได้ช่วยเชลยที่หนีจากค่ายญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งด้วย เชลยที่รอดชีวิตกลับไปสำนึกบุญคุณ จึงให้สมญานามว่าเป็น "วีระบุรุษสงครามของรถไฟสายมรณะ" และช่วยให้ไทยไม่ต้องถูกปฏิบัติอย่างผู้แพ้สงคราม บ้านแต้มทองบ้านคหบดีเก่า สถาปัตยกรรมแบบจีนอายุประมาณ 150 กว่าปี สร้างโดยช่างชาวจีนในสมัยร.3 ยังคงมีข้าวของเครื่องใช้ ของเก่า เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยค เมื่อปี 2420 บ้านสหกุลพาณิชย์ ซึ่งเป็นบ้านเก่าที่ทหารญี่ปุ่นเคยขอเช่าเป็นที่พักของนายทหารและติดตั้งปืนกลบนดาดฟ้า มีหลุมหลบภัยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในห้องใต้ดินภายในตัวบ้านและยังคงสภาพสมบูรณ์ นับเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดกาญจนบุรี จึงต้องการพัฒนาส่งเสริมให้ถนนสายปากแพรก ให้เป็นถนนคนเดิน ที่สามารถถนนเล่าเรื่องเมืองกาญจน์ได้ตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ