ทส. เร่งเครื่องระดมเจาะบ่อน้ำบาดาลเสร็จแล้วกว่า 2,000 บ่อคาดสิ้นเดือนเมษายน 2559 ได้ 4,000 บ่อ ปริมาณน้ำ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีประชาชนจะได้ประโยชน์ 225,733 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 131,600 ไร่

ข่าวทั่วไป Friday February 19, 2016 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงความคืบหน้าการเจาะบ่อน้ำบาดาลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อให้มีน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พร้อมเสนอวิธีการเพิ่มน้ำต้นทุนจากบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล การใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำประปา และการบูรณาการ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ร่วมกับนายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เรื่อง "น้ำบาดาล : ปฏิบัติการเพิ่มน้ำต้นทุน" เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจาะบ่อน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคและจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งในปีงบประมาณ 2559 จำนวนกว่า6,000 บ่อ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,000 บ่อ คาดว่าจะดำเนินการเจาะเพิ่มอีก 2,000 บ่อ รวมเป็น 4,000 บ่อ ให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2559 ปริมาณน้ำที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 225,733 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 131,600 ไร่ สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐ ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ หรือแม้กระทั่งภาคการเกษตรที่ภาครัฐจำเป็นต้อง ลดปริมาณการส่งน้ำ เนื่องจากต้องเก็บน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำ ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ขณะที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 11 จังหวัด 43 อำเภอ 212 ตำบล 1,862 หมู่บ้าน ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้ง 8 มาตรการ โดย 1 ใน 8 มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คือ มาตรการที่ 6 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งมีการดำเนินการดังนี้ 1. ดำเนินงานโครงการหลักของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โครงการพัฒนาแหล่ง น้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป้าหมายรวมกว่า 6,000 บ่อ ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 338,600 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 197,400 ไร่ ปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ จำนวน 2,000 บ่อ และคาดว่าภายในสิ้นเดือนเมษายน 2559 จะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลได้เพิ่มขึ้นอีก 2,000 บ่อ รวมเป็น 4,000 บ่อ ปริมาณน้ำที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 225,733 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 131,600 ไร่ 2. เฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลผ่านเครือข่ายบ่อสังเกตการณ์ ทั่วประเทศ 864 สถานี จำนวน 1,524 บ่อ ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของน้ำบาดาลแล้ว ยังสามารถพัฒนาบ่อสังเกตการณ์เป็นบ่อผลิตน้ำบาดาลเพื่อปรับเป็นจุดแจกจ่ายน้ำบาดาลสำหรับประชาชนทั่วไป โดยมีปริมาณน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 161 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 3. เตรียมการผ่อนผันให้ใช้น้ำบาดาลในกรณีที่เกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรง ดังนี้ - บ่อน้ำบาดาลภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลแล้ว แต่อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล ยังไม่เต็มตามศักยภาพของบ่อน้ำบาดาลนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะพิจารณาอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล ได้เต็มตามศักยภาพของบ่อน้ำบาดาล - กรณีเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) โรงงานอุตสาหกรรมที่มีบ่อน้ำบาดาลอยู่แล้ว ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลแบบบ่อสำรอง คือ ใช้ในกรณีน้ำประปาเกิดขัดข้องหรือแรงดันน้ำประปาไหลอ่อน หรือกรณีที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ออกใบอนุญาต ใช้น้ำบาดาลให้ใช้ตามสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ คือ ให้ใช้น้ำบาดาล เพื่อเป็นวัตถุดิบหรือในกระบวนการผลิตเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบให้ใช้น้ำประปาของการประปานครหลวงหรือการประปาส่วนภูมิภาค ทั้งสองกรณีดังกล่าวกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะอนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้น้ำบาดาลได้ตามปริมาณน้ำสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนการใช้น้ำบาดาลดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินปริมาณน้ำบาดาลที่ยอมรับได้ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลได้วันละ 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตร - กรณีโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสงค์จะเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อทดแทนบ่อเดิมที่ชำรุดหรือเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลให้โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการเจาะน้ำบาดาล และได้แจ้งให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ผู้ได้รับมอบหมายให้ออกใบอนุญาต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ประจำเขตน้ำบาดาลกรุงเทพมหานคร และเขตน้ำบาดาลจังหวัด ให้เร่งตรวจสอบสถานที่ประกอบกิจการน้ำบาดาล และอำนวยการความสะดวกในการดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การเจาะน้ำบาดาลและใช้น้ำบาดาลถูกต้องตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 4. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ผ่านโครงการ "ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง" ประจำปี พ.ศ. 2559 ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน คือ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยเปิดจุดจ่ายน้ำถาวรทั่วประเทศ 89 แห่ง เพื่อให้บริการน้ำบาดาลสะอาด และช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน โดยจะมีการแถลงข่าวเปิดโครงการในวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2559 นี้ รวมถึงการลงนาม MOU ความร่วมมือเจาะบ่อน้ำบาดาลและพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ร่วมกับระบบประปาผิวดินในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม 5. ศึกษาและสำรวจเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลโดยนำพลังงานความร้อนใต้พิภพ มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าหรือใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ตามศักยภาพของพื้นที่แต่ละแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมทรัพยากรธรณี และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสำรวจและผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยมีเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ขนาด 5 เมกกะวัตต์ โดยประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานความร้อนใต้พิภพประมาณ 112 แห่ง ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่เขตภาคเหนือ สามารถที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ไม่น้อยกว่า 130 เมกกะวัตต์ หรือนำไปใช้ในการอบแห้งพืชผลทางการเกษตร (โรงอบแห้ง) เช่น ลำไย พริก สตรอว์เบอร์รี ใบยาสูบ ใช้ในการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร (ห้องเย็น) เช่น มะนาว ส้ม รวมถึงใช้ในระบบปรับอากาศ กิจกรรมอาบน้ำแร่ สปา เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 26/83 ซอยงามวงศ์วาน 54 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือสายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Green Call 1310 กด 4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ