สพฉ.จับมือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินรองรับภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 24, 2016 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.จับมือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินรองรับภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเปิดข้อมูลประชาชนในอาเซียนเสียชีวิตกว่า 250,000 คน หรือ 61.6 เปอร์เซ็นต์ของภัยพิบัติทั่วโลก เตรียมพัฒนาทีมแพทย์ฉุกเฉิน 10 ประเทศให้พร้อมรองรับทุกพิบัติภัย ที่โรงแรมริชมอนด์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้ลงนามร่วมกันในโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติของภูมิภาคอาเซียน(The Project for Strengthening the ASEAN Regional Capacity on Disaster Health Management) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการบริหารจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุข และพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้แก่ประเทศต่างๆในอาเซียน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้คร่าชีวิตประชากรในภูมิภาคอาเซียนไปกว่า 250,000 ราย โดยคิดเป็นความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2554 มากถึงร้อยละ 61.6 ของความเสียหายจากภัยพิบัติทั่วโลก และเพื่อให้มีการแก้ไขและป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมกลุ่มผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจึงได้สร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติร่วมกันภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และปฏิญญาอาเซียน เรื่อง การพัฒนาความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีพันธะสัญญาต่อกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการขยายความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ ได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) ประสานงานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติให้แก่ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ตลอดปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) ร่วมมือกับ JICA จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็น การประชุมเชิงปฏิบัติการด้าน การแพทย์ฉุกเฉินในภาวะพิบัติภัยเพื่อหารือในเรื่องของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพในการเตรียมความพร้อมและการรับมือภัยพิบัติในระดับภูมิภาค การสร้างเครือข่ายในหมู่ประเทศสมาชิก ASEAN และญี่ปุ่น การร่วมกันผลักดันให้การแพทย์ฉุกเฉินในภาวะพิบัติภัย ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลัก ภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN Plus Three โดยกำหนดให้ประเทศไทยเป็นผู้นำโดยมีประเทศเวียดนามเสนอตัวเป็นผู้นำร่วม นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้แล้วสพฉ.และ JICA ได้ประชุมร่วมกัน และกำหนดให้มีการทำโครงการสำรวจประเมินระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติของอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติของแต่ละประเทศ รวมทั้งสำรวจความต้องการและโอกาสพัฒนาของแต่ละประเทศเพื่อนำมาวางแผนการพัฒนาการเตรียมการรับมือภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยทีมแพทย์ของไทยได้เดินทางไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติของทุกประเทศในอาเซียนด้วย ซึ่งเรายังมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเป็นตัวแทนของภูมิภาคอาเซียนร่วมเสนอยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกประเทศในภูมิภาคเซียนในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทีเมืองดาลัดเวียดนาม ซึ่งทุกประเทศได้ให้ความเห็นชอบในกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้วด้วย ด้านนพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า การลงนามของสพฉ.กับ JICA ในครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำความร่วมมือระหว่างสพฉ.กับ JICA ในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการบริหารจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุข และพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้แก่ประเทศต่างๆในอาเซียน โดยรูปแบบของการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อจากนี้คือ จะมีการประชุมร่วม10ชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น อย่างน้อยปีละครั้งพร้อมทั้งฝึกซ้อมแผนภัยพิบัติร่วมกัน และร่วมกันจัดทำร่างมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุขของภูมิภาครวมถึงจัดทำฐานข้อมูลของทีมช่วยเหลือทางการแพทย์(DMAT)ของประเทศสมาชิก พร้อมทั้งสร้างโครงข่ายระบบประเมินความต้องการทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติจากพื้นที่ประสบภัยและจัดฝึกอบรมด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติให้แก่ประเทศสมาชิก ซึ่งตนเชื่อว่าภายหลังจากการลงนามและดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเกิดกลไกในการประสานความร่วมมือระหว่างกัน ในด้านการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะพิบัติภัยและจะมีแนวทางในการปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน ในกรณีภัยพิบัติ รวมถึงมีมาตรฐานการปฏิบัติการและมาตรฐานทีมช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติของอาเซียน และมีระบบประเมินความต้องการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ประสบภัย มีเครือข่ายวิชาการด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ และที่สำคัญคือมีการพัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติให้แก่ประเทศสมาชิกทุกประเทศด้วย นพ.ภูมินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า สพฉ.ทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างประเทศมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่การจะพัฒนาโครงการนี้ให้สำเร็จต่อไปเป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ จากหลายภาคส่วนในประเทศ เช่นกระทรวงสาธารณสุข รพ.ต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน สภากาชาดไทย ตลอดจนภาคส่วนวิชาการ ที่มีสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินและสถาบันการศึกษาอบรมต่างๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศ และจัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ และสร้างความเป็นผู้นำของประเทศไทย นอกจากนั้นจากความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นผ่านโครงการนี้ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในประเทศกับหน่วยงานในต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและในกรณีสาธารณภัย ของประเทศไทยในอนาคต ขณะที่ ดร.พิจิตต รัตตกุล กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและ JICA ในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากในการรับมือภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน เพราะเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าภัยพิบัติจะเลือกเกิดในประเทศไหน ดังนั้นอาเซียนควรร่วมมือกันเตรียมพร้อมในการรับมือภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่าขีดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนไม่เท่ากัน ดังนั้นโครงการความร่วมมือในครั้งนี้จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นการประเมินสถานการณ์และความรุนแรงของภัยพิบัติ การจัดเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉิน การจัดทำแผนตอบโต้สถานการณ์ภัยพิบัติที่รวดเร็ว รวมถึงการจัดทำแผนฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยในเบื้องต้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ประสานให้โรงพยาบาลสิรินธรเป็นศูนย์กลางในการสั่งการภัยพิบัติและเป็นศูนย์กลางในการจัดฝึกอบรมให้กับ 10 ประเทศอาเซียน เนื่องจากมีความพร้อมในด้านภูมิศาสตร์ เช่นอยู่ใกล้สนามบินง่ายต่อการขนย้ายทีมแพทย์และอุปกรณ์ที่จะเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และมีความยืดหยุ่นในการรองรับเหตุฉุกเฉิน "อยากให้ทุกคมมองเรื่องภัยพิบัติเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยากให้ทุกคนเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะนับวันสถานการณ์ภัยพิบัติจะยิ่งรุนแรงขึ้น และเกิดถี่ขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเกิดก็จะเกิด ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดังนั้นการขยายความรู้ให้กับประชาชนในการเตรียมการรับมือภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญ และนอกจากโครงการที่จัดขึ้นในครั้งนี้แล้ว เรายังได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการฝึกอบรมให้ชุมชนมีความรู้ในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติและมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพราะใน 24 ชั่วโมงแรกทีเกิดภัยพิบัติชุมชนจะต้องมีความพร้อมในการรับมือได้ด้วยตนเอง ซึ่งหากชุมชนรับมือได้ดี ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็จะน้อยลง" กรรมการการแพทย์ฉุกเฉินกล่าว ด้าน Mr.Suichi Ikeda ตัวแทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กล่าวว่า ที่เราเลือกประเทศไทยให้เป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินโครงการ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ในการรับมือภัยพิบัติ และไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถสร้างทีม DMAT ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ และเราจะเข้ามาช่วยเสริมให้ทีม DMAT ไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบและฝึกอบรมให้กับประเทศอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนมีมาตรฐานในการรับมือภัยพิบัติเท่ากัน นอกจากนี้สาเหตุสำคัญอีกประการ คือ ประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่อยู่ศูนย์กลาง ทำให้สะดวกต่อการประสานงานกับประเทศอื่นๆ หากเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน คือ สพฉ. ที่มีความคล่องตัวในการประสานงานหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะ ช่วยทำให้โครงการประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ