เอคเซนเชอร์วิจัยพบ ทักษะด้านดิจิทัลช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในโลกแห่งการทำงาน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทยมีพนักงานผู้หญิง 48% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่ง 56 % เป็นผู้บริหารระดับกรรมการผู้จัดการ

ข่าวเทคโนโลยี Monday March 14, 2016 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ ผู้หญิงที่มีความรู้ความคล่องตัวด้านดิจิทัล มีส่วนช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศหญิงชายหายไปในโลกแห่งการทำงาน และความรอบรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้นจนถึงระดับที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว เชื่อมต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับเพศชายและสามารถแข่งขันในการทำงานได้อย่างยุติธรรม งานวิจัยล่าสุดของเอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กว่า ACN) เรื่อง "ก้าวย่างสู่ความเท่าเทียม: ดิจิทัลช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในโลกแห่งการทำงานได้อย่างไร" (Getting to Equal: How Digital is Helping Close the Gender Gap at Work) แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงใช้ทักษะด้านดิจิทัลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน การหางาน และสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานได้อย่างไร รายงานฉบับนี้ยังแสดงข้อมูลมากมายที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าในทุกช่วงชีวิตของการทำงานและการศึกษา และมีความสำคัญมากขึ้นในการช่วยให้ผู้หญิงก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้นำองค์กร งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า 7 ใน 10 คนจากผู้เข้าร่วมตอบแบบประเมินทั่วโลก (สัดส่วนชาย 68% และหญิง 72%) ระบุว่า ดิจิทัลเป็นส่วนที่ทำให้การทำงานยืดหยุ่นได้มากขึ้น และทำให้ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งยังสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องหรือแม้แต่กลับเข้าสู่ตลาดงานได้ นอกจากนี้ ประชากร เกือบสองในสาม (68%) ยังมั่นใจว่า ดิจิทัลเอื้อให้ผู้หญิงสามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียม จากผลการสำรวจกลุ่มผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนานั้นเป็นกลุ่มที่มองโลกในแง่ดีมากกว่ากลุ่มผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้ว (80% และ 62% ตามลำดับ) โดยทั้งชายและหญิง (71%) เห็นคล้ายกันว่า โลกดิจิทัลผลักดันให้บุตรสาวของเขามีโอกาสที่ดีขึ้นในอนาคต หากรัฐบาลและองค์กรธุรกิจต่าง ๆ สามารถเร่งพัฒนาให้ผู้หญิงมีความรอบรู้ด้านดิจิทัลได้เร็วขึ้นเป็นสองเท่า ก็จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานได้ใน 25 ปีสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เทียบกับการใช้เวลา 50 ปีหากการพัฒนายังมีอัตราเท่ากับในปัจจุบัน ส่วนประเทศกำลังพัฒนา อาจใช้เวลา 45 ปีในการพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน เทียบกับ 85 ปีหากมีการพัฒนาเท่ากับในปัจจุบัน "ผู้หญิงเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานในตลาดที่ยังไม่ได้รับการใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยเสริมทักษะที่คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีในการแข่งขันในตลาดแรงงานโดยเทียบกับกลุ่มคนเก่งหรือทาเลนต์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน" อินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงาน บริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด และ IWD Lead ของประเทศไทย กล่าว "เห็นได้ชัดว่ามีโอกาสที่รัฐบาลและธุรกิจจะร่วมมือกันผลักดันให้ผู้หญิงมีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นการเร่งให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงานยิ่งขึ้นด้วย ปัจจุบัน เอคเซนเชอร์มีสัดส่วนพนักงานผู้หญิงทั่วโลก 38% และอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง 18% ทั้งนี้ โดยรวมแล้ว ผู้บริหาร (ตั้งแต่ผู้จัดการขึ้นไป) เป็นผู้หญิงในสัดส่วน 28% ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการและกรรมการผู้จัดการอาวุโสรุ่นใหม่ ๆ ของเอคเซนเชอร์นั้น มีผู้หญิงมากกว่า 28% เพิ่มขึ้นจาก 21% ในปีที่ผ่านมา และบริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นอีกเป็นอย่างน้อย 40% ทั่วโลกภายในปี 2017 สำหรับประเทศไทย มีพนักงานหญิง 48% จากพนักงานทั้งหมดของเอคเซนเชอร์ โดยผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ 56% และเป็นระดับบริหาร 44% แม้ความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลจะช่วยให้ผู้หญิงได้รับโอกาสในการฝึกฝนและจ้างงาน แต่ความสัมพันธ์ในเชิงสถิติระหว่างความรู้ด้านดิจิทัลและความก้าวหน้าของผู้หญิงก็ยังไม่มีนัยสำคัญเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี คาดว่าความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปเมื่อมีคนรุ่นมิลเลนเนียมและรุ่นที่โตมากับดิจิทัลก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับบริหารมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าในสหรัฐฯ มีผู้หญิงรุ่นมิลเลนเนียม 6 ใน 10 ที่มีแรงบันดาลใจต้องการก้าวขึ้นไปถึงระดับผู้นำ งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบอีกว่า 49% ของผู้หญิงทำงาน และ 56% ของผู้หญิงรุ่นมิลเลนเนียมนั้น มีแรงบันดาลใจในการทำงานระดับบริหาร โดยกว่าครึ่งของผู้หญิงทำงาน และ 56% ของผู้หญิงรุ่นมิลเลนเนียมรู้สึกว่า พวกเธอมีทักษะที่เหมาะสำหรับการเป็นผู้นำ ขณะที่ผลจากงานวิจัยระบุว่าความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมีผลในทางบวกต่อรายได้ของทั้งหญิงและชาย แต่ความแตกต่างระหว่างรายได้ก็ยังมีอยู่ โดยผู้ชายเป็นคนที่หารายได้เป็นหลักของครอบครัวอย่างเห็นได้ชัด ในทั้งสามรุ่น ทั้งมิลเลนเนียม เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์ "มีหลายแนวทางที่จะลดช่องว่างระหว่างเพศในที่ทำงาน แต่ดิจิทัลเป็นแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด" อินทิรากล่าว "นี่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้หญิงและเด็กสาวทุกคน เพราะการพัฒนาและ การเพิ่มพูนความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บ้านและที่ทำงานนั้น จะส่งผลดีอย่างเห็นได้ชัดในทุกช่วงของอาชีพ และจะสร้างความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด เพราะทั้งธุรกิจและภาครัฐต่างต้องหาคนมาทำงานสนับสนุนเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต" ระเบียบวิธีวิจัย Accenture Digital Fluency Model ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถระบุและทำความเข้าใจบทบาทของ digital fluency หรือความรู้ความถนัดด้านดิจิทัล ต่อความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น มีการทำแบบสำรวจในเดือนธันวาคม 2015 และเดือนมกราคม 2016 โดยสำรวจจากหญิงและชาย 4,900 คนใน 31 ประเทศ เพื่อประเมินว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ที่บ้าน ในสถานศึกษา และที่ทำงานอย่างไร กลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนประชากรหญิงและชายวัยทำงานในรุ่นต่าง ๆ ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งรุ่นมิลเลนเนียม เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์ โดยสำรวจจากกลุ่มพนักงานทุกระดับ ทุกขนาดองค์กร การสำรวจนี้มีค่าความคลาดเคลื่อนประมาณ +/- 1.4% เทคโนโลยีดิจิทัลในการสำรวจครอบคลุมถึงการเรียนคอร์สเวิร์คเสมือนจริง เครื่องมือเพื่อการทำงานดิจิทัล (เว็บแคม และระบบ instant messaging) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน เป็นต้น คำตอบจากการสำรวจถูกรวบรวมไว้ในรายงานที่เผยแพร่ทั่วไป รวมทั้งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะเกี่ยวกับการศึกษา งานวิจัยด้านการจ้างงานและภาวะผู้นำโดยธนาคารโลก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เวิลด์อิโคโนมิกฟอรั่ม และงาน ITU World Telecommunication การสำรวจและประมวลผลด้วยโมเดลนี้ มีข้อมูลจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี จีนและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง (รวมฮ่องกงและไต้หวัน) อินเดีย อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ กลุ่มนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอรเวย์ สวีเดน) ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ