ภัยแล้ง – ปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัจจัยทำให้การบริโภคลดลง ผู้ประกอบการระมัดระวัง การขยายการลงทุน ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.พ. 59 ขยับลดลงอยู่ที่ระดับ 85.1

ข่าวทั่วไป Thursday March 17, 2016 12:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 1,201 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ30.3,35.0 และ 34.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 42.2,12.7,16.0,10.2 และ18.9 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.9 และ 17.1 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.3 ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2 มีสาเหตุมาจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่ขยายพื้นที่ไปในวงกว้าง ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังไม่คลี่คลายและอยู่ในสภาวะเปราะบาง ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการขยายการลงทุน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังมีความต้องการต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.8 ในเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการ ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงและมีระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการลงทุนและการบริโภคของภาครัฐ เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ภายใต้ภาวะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐสู่ภาคเศรษฐกิจจะช่วยจูงใจให้เกิดการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ตลอดจนมาตรการทางการเงินของภาครัฐที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนได้อีกด้วย ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 77.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.0 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.0 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 96.5 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 84.5 ลดลงจากระดับ 86.8 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 99.7 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 92.7 ลดลงจากระดับ 94.3 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับอยู่ที่ระดับ 104.1 ลดลงจากระดับ 106.6 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกภูมิภาค ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 87.9 ลดลงจากระดับ 88.1 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนพลาสติก ที่เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมต่างๆ มียอดสั่งซื้อจากยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีการชะลอการสั่งซื้อ ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อภาชนะบนโต๊ะอาหารที่ทำพลาสติกจากประเทศมาเลเซีย และฮ่องกง ลดลงเช่นกัน) อุตสาหกรรมหล่อโลหะ (ผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปต่างๆ โลหะตัวพิมพ์ มียอดขายในประเทศลดลง สำหรับหล่อโลหะประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม เครื่องจักรการเกษตร มียอดการส่งออกไปประเทศในแถบเอเชียลดลง) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนจากไม้ มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับต้นทุนประกอบการที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์หนัง มียอดส่งออกไปประเทศจีนและสหรัฐฯ ลดลง) ส่วน อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ส่งผลด้านบวก ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (เครื่องมือทางการแพทย์ศัลยกรรม มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากโรงพยาบาล สถานพยาบาลเวชกรรม และคลินิก เนื่องจากมีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าของภาคกลางอยู่ที่ระดับ 103.8 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ103.9 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 82.9 ลดลงจากระดับ 84.5 ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใยเรยอน เส้นด้ายผ้ายืด ผ้าทอ มียอดขายในประเทศลดลง ขณะที่ผ้าผืน ผ้าดิบ มียอดการส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปอยู่เวียดนามและกัมพูชา ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อยืดมียอดขายในประเทศลดลง ขณะเดียวกันการส่งออกไปตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ลดลงเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้าเด็ก เสื้อไหมพรม มียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยาสุมนไพร ประเภทยาบำรุงร่างกาย มียอดขายในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์ประเภทที่สกัดจากสมุนไพร เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู มียอดการส่งออกไปยุโรปและจีนลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ส่งผลด้านบวก ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง หินอ่อนและหินลาย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่กระเบื้องปูพื้นแกรนิต มีคำสั่งซื้อจากประเทศลาว และเวียดนามเพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.5 ลดลงจากระดับ 98.0 ในเดือนมกราคม โดย องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 79.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.7 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลง, เครื่องเคลือบดินเผาและชุดอาหารมียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (วัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเครื่องจักรทางการเกษตร รถไถนา เครื่องสูบน้ำมียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากเกษตกรมีรายได้ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประกอบกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่) หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน ผ้าทอมือ ผ้าลูกไม้ มียอดสั่งซื้อจากยุโรปและตะวันออกกลางลดลง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ส่งผลด้านบวก ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย กากน้ำตาล มียอดการส่งออกไปประเทศในแถบเอเชีย ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น, น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 93.9 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 86.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.0 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศลดลงเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลง จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับลูกค้าบางส่วนได้ตัดสินใจซื้อรถยนต์ในช่วงปลายปีที่แล้ว ก่อนปรับราคาขึ้นตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรรถยนต์ใหม่) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ แหวนลูกสูบ อุปกรณ์แต่งรถยนต์ มีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และอินโดนีเชียลดลง ขณะเดียวกันอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ มียอดขายในประเทศลดลงเช่นกัน) อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (เอทานอลมียอดขายในประเทศลดลง จากความต้องการใช้ที่ลดลง ขณะเดียวกันเกิดปัญหาภัยแล้งจึงทำให้ขาดแคลน วัตถุดิบ และมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่มีค่าดัชนีฯ ส่งผลด้านบวก ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เส้นใยสังเคราะห์มียอดสั่งซื้อจากประเทศจีน และในกลุ่มCLMV เพิ่มขึ้น, เอทิลินโพรไพลิน โพลิออล และโพลิออลผสม มียอดส่งออกไปจากประเทศจีนและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงเล็กน้อยจาก ระดับ 99.2 ในเดือนมกราคม ซึ่งองค์ประกอบ ดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 83.7 ลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อ ค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ไม้ยางแปรรูป มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและอินโดนีเชีย ลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ขณะที่คำสั่งซื้อไม้แปรรูปในประเทศชะลอตัว) อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น (ไม้เส้นฟิงค์เกอร์จอยด์ ไม้อัดวีเนียร์ แผ่นปาร์ติเกิลบอร์ดและไม้อัดแท่ง มียอดการส่งออกไปประเทศจีนและมาเลเชีย ลดลง) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สารกำจัดศัตรูพืชมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่มีค่าดัชนีฯ ส่งผลด้านบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควันมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ ขณะที่ถุงมือยาง ถุงยาง มีการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศในแถบเอเชียและยุโรป) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.7 ลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมกราคม กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 83.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.8 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.5 ลดลงจากระดับ 101.4 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับ 91.0 ลดลงจากระดับ 92.9 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบ ดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.0 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 98.2 ในเดือนมกราคม ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์ คือ ต้องการให้ภาครัฐมีการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐให้ได้ตามแผนที่กำหนด มีการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลัก ที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้า เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทย และให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) และการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่าน E-Commerce

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ