เกษตรกรเลี้ยงสุกรภาคเหนือ-ใต้วอนภาครัฐช่วยเหลือด่วน เจอภัยแล้ง รายได้ลด แบกต้นทุนสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday March 23, 2016 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ชมรมผู้เลี้ยงสุกร เกษตรกรเลี้ยงสุกรรายย่อยทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ประสบกับวิกฤติภัยแล้งต้นทุนพุ่ง หมูโตช้า เสี่ยงเป็นโรค รายได้ลดวอนรัฐเข้าช่วยเหลือด่วน นายกัมพล วงศ์พุทธิสินธุ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกร ภูซาง-เชียงคำ จ.พะเยา เผยว่า วิกฤติภัยแล้งในปีนี้รุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี สมาชิกของชมรมประมาณ 120 รายทั้งหมดเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อย ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้มาก โดยปกติ ฤดูแล้ง หมูกินอาหารน้อย โตช้ามาก น้ำที่ใช้มักด้อยคุณภาพกว่าในช่วงฤดูกาลอื่นซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่หมูจะป่วยสูงมาก นอกจากนี้ พื้นที่ในภาคเหนือในฤดูแล้งมีอากาศระหว่างวันผันผวนมาก อากาศเย็นในช่วงเช้า ตกบ่ายแดดจัด อากาศร้อนมาก ทำให้หมูเครียด ไม่กินอาหาร หมูจะแคระเกร็น คุณภาพไม่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงก็สูงขึ้นจากการซื้อน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ และการลดจำนวนหมูที่เลี้ยงลง "วิกฤติแล้งครั้งนี้ ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ หรือบางรายอาจถึงขั้นเลิกเลี้ยงไปเลย แม้ว่าราคาหมูในช่วงนี้จะดี ทางชมรมฯ ขอร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงหมูให้ได้คุณภาพ" นายกัมพลกล่าว สอดคล้องกับ นายธนศักดิ์ เกิดเอียด ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปากพะยูน จำกัด จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า เกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกประมาณ 1,500 รายเดือดร้อนมากจากขาดแคลนน้ำใช้ พืชผักเสียหาย ขณะที่เกษตรกรที่เลี้ยงหมูร่วม 100 ราย ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนหมูกินอาหารได้น้อย โตช้า ใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าปกติเพื่อให้น้ำหนักที่ตลาดต้องการ อีกทั้งยังเสี่ยงกับเป็นโรคในช่วงอากาศร้อน เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนเลี้ยงที่สูงขึ้น บางหมู่บ้านขาดน้ำสะอาดต้องหยุดเลี้ยง ทั้งที่ช่วงนี้ราคาหมูค่อนข้างดีแต่ไม่มีหมูขาย "เกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์ฯ เดือดร้อนถ้วนหน้า รายได้ลดลง แถมยังต้องแบกต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้นอีก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรให้อยู่ได้ และหมูที่ออกสู่ตลาดน้อยอาจจะกระทบกับผู้บริโภคอีกด้วย" นายธนศักดิ์กล่าวย้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ