ฝึกทักษะสำคัญของบุคลากรคุณภาพในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กอาชีวะ เชฟรอนเดินหน้าอบรมจัดกิจกรรมค่ายวิชาการให้นักเรียนอาชีวะภาคเหนือจุดประกายการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2016 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ "ความรู้สึกก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ผมคิดว่าจะเป็นการสัมมนาน่าเบื่อๆ ที่นั่งฟังกันจนเมื่อยขา แต่พอผมเข้าร่วมกิจกรรม ก็รู้สึกว่าแตกต่าง มีกิจกรรมให้ทำมากมาย ที่เราสามารถนำความรู้จากกิจกรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอาชีพต่างๆ ที่เราสามารถเรียนต่อได้ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะและความคิดของทุกคนที่เข้าร่วมครับ"นายภานุวัฒน์ ใจมูล โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิชาการ STEM for TVET CAMP ของโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" หากกล่าวถึงระบบการศึกษาในประเทศไทย ปัญหาหนึ่งที่พบคือการเรียนในห้องเรียนที่เน้นเนื้อหาวิชาการ และการสอนที่ครูเป็นผู้ป้อนข้อมูล ไม่กระตุ้นให้เกิดการคิด วิเคราะห์ และการริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้ไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีความสามารถและทักษะของศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และนำความรู้ที่มีมาประยุกต์หรือปรับใช้ได้ โดยเฉพาะในสาขาอาชีวศึกษา ที่การเรียนรู้จากการลงมือทำจริงมีความสำคัญมาก เพราะผู้เรียนต้องสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องการการลงมือปฏิบัติ มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าแรงงานด้านสะเต็มนั้นจะมีรายได้มากกว่าแรงงานทั่วไปถึง 57% เนื่องด้วย สะเต็มศึกษา ไม่ได้ให้องค์ความรู้ด้านการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิศาสตร์ (STEM) เป็นรายวิชาเท่านั้น แต่เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการวิชาทั้งหมดดังกล่าวเข้าด้วยกัน ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ดังนั้นการพัฒนากำลงคนด้านสะเต็มให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาตามแนวทางของทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 จะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสทางด้านอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่เยาวชนไทยอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้ โครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" จัดกิจกรรมค่ายวิชาการ STEM for TVET CAMP ให้กับโรงเรียนและวิทยาลัยเทคนิคที่เข้าร่วมโครงการใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และแพร่ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นผู้จัดการอบรม กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา ที่ประยุกต์เข้ากับทักษะอาชีพ และกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าใจถึงการบูรณาการความรู้ด้านสะเต็ม เพื่อให้เกิดทักษะที่จำเป็นในโลกแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยจัดขึ้นที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคมและโรงเรียนแม่อายวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย จังหวัดเชียงราย และวิทยาลัยเทคนิคแพร่ จังหวัดแพร่ ในค่ายวิชาการตลอด 2 วัน ประกอบไปด้วยกิจกรรม 4 ฐานการเรียนรู้ ที่ออกแบบมาให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพใหม่ๆ รวมถึงเสริมสร้างมุมมองในการสร้างสรรค์จากสิ่งของหรือสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน โดยเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างครูในโรงเรียน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดมุมมองการทำงาน โดยฐาน ทั้ง 4 ฐานแบ่งเป็น Smart Dam, Smart Home & Smart Farm, Smart Food Technology และ Automotive Part นอกจากนักเรียนจากทั้ง 3 จังหวัดจะเพลิดเพลินไปกับกิจกรรม ยังได้เรียนรู้ถึงการวางแผนสร้างเขื่อน การออกแบบบ้านและฟาร์มในอนาคต การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของอาหาร รวมถึงการออกแบบปรับแต่งรถแข่งอีกด้วย นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "เชฟรอนเชื่อว่าการผลิตบุคลากรคุณภาพในสายอาชีวศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยโครงการ Enjoy Science มีเป้าหมายในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของประเทศขณะนี้ นั่นคือการขาดแคลนกำลังคนระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ทางบริษัทเล็งเห็นว่าการเพิ่มพูนทักษะในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) ให้กับเด็กสายอาชีวศึกษาจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมั่นคง" นายสมคิด จีนจรรยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย กล่าวว่า "ทางเรามองว่าการผลิตและพัฒนากำลังคนคงหนีไม่พ้นเรื่องชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คณิตศาสตร์เพราะเด็กช่างทุกคนที่เข้ามาเรียนก็ต้องเรียนพื้นฐานของวิชาชีพ จะมีองค์ประกอบที่เกี่ยวกับวิชาทางวิศวกรรม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นตัวที่จะสร้างอาชีพ สร้างโครงงาน สร้างสิ่งประดิษฐ์ รวมถึงเรื่องประกอบอาชีพ ซึ่งผมคิดว่าทางโครงการฯ เดินมาถูกทาง ให้เกิดกำลังคนที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาอนาคตประเทศชาติต่อไป ควรจัดกิจกรรมทุกปี เพราะทำให้เด็กนักศึกษาเราเข้าสู่โลกอาชีพอย่างมีความสุข" นางสาวปารมีน จันทร์แผง นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายที่เข้าร่วมกิจกรรมค่าย เล่าว่า "ดีใจมากค่ะที่ได้มาร่วมโครงการ STEM for TVET CAMP รู้สึกว่าไม่ใช่เป็นโครงการที่ให้แค่ความรู้ ยังให้ความสนุกและความสุขอีกด้วย เป็นการรวมศาสตร์ในรูปแบบของฐานต่างๆ ที่มีพี่ๆ คอยจัดกิจกรรมให้ ตัวอย่างเช่น ฐาน Smart Farm Smart Home ทีพูดถึงอนาคตอีก 60 ปีข้างหน้า ถ้าเราเป็นผู้สูงอายุ จะสร้างบ้านเราอย่างไร จะสร้างฟาร์มอย่างไรในพื้นที่จำกัด เป็นเรื่องสำคัญมากกับสายวิชาที่จะเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ และคิดว่าได้นำความรู้ไปใช้แน่นอนเพราะในอนาคต เทคโนโลยียังพัฒนาไปอีกได้ไกล" นายเลาจัว แซ่ลี นักเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคเดียวกันได้เล่าเสริมว่า "ค่ายนี้ได้ให้ความรู้กับพวกเราอย่างมาก ความรู้ที่เราได้จากค่ายสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ทำให้ได้เรียนรู้ในด้านการคิด การพูด ในกระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อยากให้จัดขึ้นอีกทุกปี" ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรม STEM for TVET Camp กล่าวว่า "ต้องขอบคุณทางโครงการ Enjoy Science ที่ให้โจทย์เราในการคิดกิจกรรมที่ต้องทำให้เด็กสนุกสนาน ในขณะเดียวกันก็เห็นภาพและสามารถเชื่อมโยงกับอาชีพจริงๆ ได้ เพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ เห็นอนาคต และมีความฝัน ซึ่งจะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญคือกิจกรรมนี้ ยังทำให้ครูและอาจารย์ต้องคิด วิเคราะห์และทำการบ้านมากขึ้น ต้องคิดโจทย์ที่จะมาสอนเด็กว่าการเรียนสะเต็มจะเอาไปใช้ได้อย่างไร ครูจะเก่งขึ้น ในขณะเดียวกันนักเรียนก็จะเก่งขึ้นด้วย" กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่เชฟรอน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ หรืออาชีวศึกษา ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งสิ้นกว่า 500,000 คน
แท็ก ภาคเหนือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ