88 บริษัทคู่ค้าของสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ ยกขบวนประกาศเจตนารมณ์ต้านโกงกับ CAC

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2016 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สถาบันกรรมการบริษัทไทย ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ผู้บริหารจาก 88 บริษัทที่เป็นคู่ค้าของบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับโครงการ CAC ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของโครงการ CAC ที่สมาชิกของโครงการได้พยายามขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดให้ครอบคลุมไปถึงคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ จนเกิดเป็นผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม การเข้าร่วมโครงการของ 88 บริษัทนี้ ทำให้จำนวนบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์กับ CAC เพิ่มเป็น 649 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 331 บริษัท ทั้งนี้ CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยในปัจจุบัน มีบริษัท 152 แห่งที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด "บริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ นับเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมของการสร้างและขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดด้วยการทำตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent ซึ่งได้สร้างแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติที่ดีและกระจายต่อไปยังธุรกิจที่อยู่รอบข้าง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่องมาก" ดร. บัณฑิตกล่าว และเสริมว่า "การที่คู่ค้าของบริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC เป็นจำนวนมากเช่นนี้ บ่งชี้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ไม่ชอบคอร์รัปชัน ไม่ต้องการทำธุรกิจแบบเจือสีเทาๆ และพร้อมที่จะทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากบริษัททุกแห่งที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้ว ทั้ง 152 บริษัทสามารถชักชวนคู่ค้าให้มาร่วมโครงการได้เหมือนที่สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ทำ ก็เชื่อแน่ว่าจำนวนของบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใสจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และทำให้วัฒนธรรมการทำธุรกิจสะอาดขยายวงจนกลายเป็นกระแสหลักของระบบเศรษฐกิจไทยในที่สุด" สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เป็น 1 ใน 27 องค์กรแรกที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตร่วมกับ CAC ตั้งแต่เมื่อ CAC เริ่มก่อตั้งในปี 2553 และเป็น 1 ใน 9 องค์กรแรกที่ผ่านการรับรองจาก CAC เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2556 หลังจากที่ได้รับการรับรองจาก CAC แล้ว สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ ยังเดินหน้าผลักดันให้คู่ค้าหลักของบริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้ามาเป็นแนวร่วมในการต่อต้านทุจริตด้วย "ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับบริษัทคู่ค้า ทั้ง 88 บริษัท ที่มีความตั้งมั่นทำความดี และรวมพลังต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างสังคมให้ปราศจากการทุจริตทุกรูปแบบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะขยายแนวร่วมต่อไปอีก เพื่อสร้างประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไป" คุณสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่มประธานกรรมการบริษัท บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี กล่าว ดร. วารีรัตน์ อัครธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทรเด้นท์ สตีล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเศษโลหะครบวงจรที่เป็นหนึ่งในคู่ค้าของบริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ ที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC กล่าวว่า "การที่ธุรกิจต้องจ่ายใต้โต๊ะถือเป็นต้นทุนแฝงที่ไม่มีใครอยากจ่ายอยู่แล้ว การไม่จ่ายสินบนจะทำให้เราสามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องห่วงหลัง และสามารถเดินหน้าแข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการ ซึ่งเรามั่นใจมากว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจของเรามีที่ยืน และโตได้แน่นอน การทำธุรกิจอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว" การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัทที่เข้าร่วม ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งกระบวนการรับรองของโครงการ CAC รวมถึงการชี้แจงข้อมูลและส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการ CAC พิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือบริษัทเคยมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตมาก่อน Background CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้จาก: , http://www.thai-cac.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ