ปลัด พม. ร่วมหารือกับเอกอัครราชทูต Susan Coppedge พร้อมย้ำประเทศไทยเดินหน้าป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2016 17:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางเสาวนีย์ โขมพัตร โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๙ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และ นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้พบปะหารือกับเอกอัครราชทูต Susan Coppedge และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงาน TIP Office เรื่องความคืบหน้า ในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา นางเสาวนีย์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ปลัด พม. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และผลงานสำคัญในทุกมิติ โดยเฉพาะผลงานในส่วนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนงาน ได้แก่ การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายฯ โดยมีบุคคลสำคัญของสหรัฐอเมริกาหลายท่านเดินทางไปเยี่ยมชมและดูงาน การประสานหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งในและนอกสถานคุ้มครอง โดยในปี ๒๕๕๘ มีผู้เสียหายที่ไปทำงานนอกสถานคุ้มครอง ๔๗ คน ฝึกอบรมทักษะด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เสียหาย และได้นำเสนอภาพผลิตภัณฑ์ที่ผู้เสียหายชาวโรฮีนจาเป็นผู้ผลิต รวมทั้งคลิปวิดีโอการเล่นฟุตบอลระหว่างปลัด พม. กับผู้เสียหายจากโรฮีนจาที่สถานคุ้มครองฯ ในจังหวัดสงขลาด้วย "นอกจากนี้ ปลัด พม. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งแก่องค์กรพัฒนาเอกชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำงานทั้งในเรื่องของการเตรียมพยานที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินคดี และการทำงานเชิงป้องกันโดยให้ความรู้ความเข้าใจถึงภัยของการค้ามนุษย์ผ่านสื่อออนไลน์ รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีแผนจัดอบรมล่ามในปี ๒๕๕๙ จำนวน ๑๒๐ คน โดยตระหนักถึงประโยชน์ที่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จะได้รับเป็นสำคัญ และการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ที่ไม่ได้มุ่งหวังกับการจัดระดับ แต่มีเจตนารมณ์ที่จะให้ความคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ" นางเสาวนีย์ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ