LIT ประกาศความร่วมมือ 5 บมจ. ในงานผนึกกำลังประชารัฐ เซ็น MOU โครงการ LIT-Supply Chain Finance ลุยปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ให้คู่ค้า ลดพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ สนองนโยบายรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 1, 2016 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--IR network บมจ.ลีซ อิท (LIT) ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ 5 บมจ. ทั้งใน SET และ MAI ประกอบด้วย "SOLAR-K-ATP30-NCL-BSM" ร่วมเซ็น MOU โครงการเติมทุนหมุนเวียนคู่ค้า (LIT-Supply Chain Finance) ในงาน "SET100 ผนึกกำลังประชารัฐ" โดยบมจ.ลีซ อิท (LIT) ลุยปล่อยสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้าของ 5 บมจ. ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายและรวดเร็ว โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ในวันนี้ (1 เมษายน 2559) ผู้บริหาร บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) (SOLAR) บริษัท คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอ จำกัด (มหาชน) (K) บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) (ATP30) บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (NCL) และบริษัท บิวเดอสมาร์ท จำกัด (มหาชน) (BSM) ได้ลงนามประกาศความร่วมมือใน MOU โครงการเติมทุนหมุนเวียนคู่ค้า หรือ LIT-Supply Chain Finance ในงาน "SET100 ผนึกกำลังประชารัฐ" ณ หอประชุม ศุกรีย์ แก้วเจริญ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน)(LIT) ผู้ให้บริการทางการเงินประเภท Non-Bank ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เปิดเผยว่า โครงการเติมทุนหมุนเวียนคู่ค้า หรือโครงการ LIT-Supply Chain Finance เป็นโครงการที่ลีซ อิท เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับคู่ค้าของทั้ง 5 บมจ. ทั้งในส่วนของผู้ขายสินค้า (Supplier) และผู้ซื้อสินค้า (Customer) ซึ่งจะทำให้คู่ค้าซึ่งเป็น SMEs เหล่านั้นเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ "ผู้ขายสินค้า (Supplier) ของ บมจ. ที่เข้าร่วม สามารถนำบิลมาเบิกเงินจาก LIT ทันทีหลังจากการส่งสินค้าโดยไม่ต้องรอคอยให้ครบเครดิตเทอม และไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ ส่วนฝั่งผู้ซื้อสินค้า (Customer) ของบมจ. ก็จะได้รับสินเชื่อเพื่อเติมเงินทุนหมุนเวียนจากลีซ อิท เพื่อที่จะนำไปชำระค่าสินค้าและบริการให้กับ บมจ.ที่เข้าร่วมได้เช่นกัน" นายสมพลกล่าว ประโยชน์ที่บริษัทที่ร่วมโครงการจะได้รับ คือ เมื่อผู้ขายสินค้า (Supplier) มีเงินทุนเพียงพอก็จะสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งวัตถุดิบให้กับคู่ค้า บมจ.ได้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ และในทำนองเดียวกัน เมื่อผู้ซื้อสินค้า (SME Customer) ของ บมจ. มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น ก็สามารถชำระค่าสินค้าให้กับบมจ.ซึ่งเป็นผู้ขายได้เร็วหรือตรงเวลามากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การที่ LIT เข้ามารับซื้อหนี้การต้าของผู้ซื้อสินค้า (SME Customer) จะทำให้ทั้ง 5 บมจ. มีความเชื่อมั่นในการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อหรือขยายเครดิตเทอมให้แก่ผู้ซื้อสินค้า (SME Customer)อีกด้วย กล่าวโดยภาพรวม คือ การให้สินเชื่อโครงการนี้จะช่วยยกระดับทั้ง Supply Chain ของบมจ.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นประโยชน์ในแง่ Sustainability Development (SD) ขององค์กรในการสนับสนุนให้คู่ค้าซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ของบริษัทเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนกับ บมจ.อีกด้วย ปัจจุบัน SMEs จำนวนมากเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ โครงการนี้จึงเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโตให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบประเภท Non-Bank ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบโดยอาศัยความร่วมมือกัน (Networking) ระหว่างบริษัทชั้นนำต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ "การร่วมลงนามเพื่อเซ็น MOU ครั้งนี้เป็นการประกาศความร่วมมือของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งใน MAI และ SET ทั้ง 5 บริษัท ในการเข้าร่วมโครงการเติมทุนหมุนเวียนคู่ค้าหรือ LIT- Supply Chain Finance กับทางลีซ อิท โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้คู่ค้าที่เป็น SMEs ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใช้แหล่งทุนในระบบแทนเงินนอกระบบ อีกทั้งยังเป็นทำตามนโยบายความรับผิดต่อสังคม (CSR) เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของลีซ อิท และทั้ง 5 บมจ.ด้วย" นายสมพลกล่าว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) กล่าวอีกว่า โครงการเติมทุนหมุนเวียนคู่ค้า(LIT Supply Chain Finance) เป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ "ลีซ อิท" ในการไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า SMEs ที่มาใช้บริการสินเชื่อให้มีความครบวงจรมากขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้า และขยายโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ของบริษัทที่มีตั้งแต่สินเชื่อต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้กับลูกค้าอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ