กอปภ.ก. ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำ สร้างความเข้าใจทุกภาคส่วนประหยัดน้ำ – ป้องกันการลักลอบสูบน้ำ

ข่าวทั่วไป Friday April 1, 2016 17:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 13/2559 ในวันที่ 1 เมษายน 2559 โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อค่าความเค็มของน้ำ เพื่อการเกษตรและน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา พร้อมประสานจังหวัดเฝ้าระวังปัญหาน้ำเสีย รวมถึงสร้างความเข้าใจมิให้ประชาชนลักลอบสูบน้ำจากคลองส่งน้ำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ภาครัฐกำหนด ส่งผลให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝน ปี พ.ศ. 2559 นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 13/2559 กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 23 จังหวัด 106 อำเภอ 465 ตำบล 3,727 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 4.97 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ได้แก่ พื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งปริมาณน้ำลดลงต่อเนื่อง ทำให้ขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค กอปภ.ก. ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เร่งประสานหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับนำน้ำไปเติมในแหล่งน้ำผลิตน้ำประปา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้น กรณีเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีปริมาณน้ำลดลงถึงระดับกักเก็บต่ำสุดต้องนำน้ำสำรองใต้ปริมาณกักเก็บน้ำต่ำสุดที่อยู่ก้นเขื่อนมาใช้งาน คาดว่าจะสามารถใช้การได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 กอปภ.ก. จึงได้ประสานให้จังหวัดเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์น้ำ ความจำเป็นในการบริหารจัดการและจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน กรณีน้ำเค็มรุกล้ำแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคกลาง กอปภ.ก. ได้ประสานกรมชลประทานระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะในวันที่ 11 – 14 เมษายน 2559 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าความเค็มของน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับหล่อเลี้ยงไม้ยืนต้นและน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา สำหรับกรณีปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้ค่าความเค็มสูงเกินค่ามาตรฐาน ต้องลดปริมาณการสูบน้ำสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปา ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคอยู่ระหว่างดำเนินการวางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขาไม้ปล้อง เพื่อนำน้ำดิบมาเจือจางค่าความเค็มสำหรับผลิตน้ำประปา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนเมษายน 2559 กอปภ.ก. จึงได้ประสานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี เร่งแก้ไขปัญหาและจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคแจกจ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น นอกจากนี้ กอปภ.ก.ได้ประสานทุกจังหวัดเฝ้าระวังปัญหาน้ำเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศทางน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำมีอยู่อย่างจำกัดไม่สามารถระบายเพื่อเจือจางน้ำเสียได้ พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดเว้นการทำนาปรังรอบที่ 2 โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหาย รวมถึงสร้างความเข้าใจมิให้ประชาชนลักลอบสูบน้ำจากคลองส่งน้ำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เพราะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ภาครัฐกำหนด ส่งผลให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝน ปี พ.ศ. 2559 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ