อย.เตือนร้ายขายยา อย่าฝ่าฝืนขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2

ข่าวทั่วไป Monday June 11, 2001 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--อ.ย.
อย.เตือนเจ้าของร้านขายยา อย่านำวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 เช่น ยาลดความอ้วน ยานอนหลับ มาจำหน่ายโดยเด็ดขาด หากพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับอย่างหนัก
น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้ดำเนินคดีกับร้านขายยา โดยพบว่ามีการลักลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตร้านขายยาต้องควบคุมมิให้การขายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันการนำไปใช้ก่อนอาชญากรรมหรือนำไปใช้ในทางที่ผิด วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ดังกล่าวได้แก่ จำพวกยานอนหลับ เช่น มิดาโซแลม (Midezolam) ชื่อการค้า โดมิคุม (Dormicum), ฟลูไนตราซีแพม(Flunitrazeparn) ชื่อการค้า แพนเบซี่ (Panbesy), แอมฟีพราโมน(Amfepramone) หรือเรียกอีกชื่อว่า ไดเอทธิลโพรพิออน (Diethypropion) ชื่อการค้า แอทแทรกธิล(Atractill) แต่ปรากฏว่ายังคงมีร้านขายยาบางแห่งลักลอบจำหน่ายยาเหล่านี้อยู่ อย.จึงขอเตือนผู้รับอนุญาตร้านขายยาอย่าได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะตำรวจปราบปรามยาเสพติดและ อย.จะดำเนินการในเรื่องอย่างเข้มงวด เมื่อตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที โดยหากมีการฝ่าฝืนขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท ส่วนโทษของการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คือ ต้องระวางโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ผู้รับอนุญาตร้านขายยาที่ฝ่าฝืนขาย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จะต้องถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โดยมีกำหนดคราวละ 120 วัน แต่ในกรณีที่มีการฟ้องผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำผิด อย.จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้รอจนคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้ และผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอใบอนุญาตใดๆ อีกไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นอย.จะเสนอให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาจรรยาบรรณในการประกอบโรคศิลปะของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของร้านที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าวด้วย--จบ--
-ตม-

แท็ก ยาเสพติด   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ