อีจีเอจับมือรัฐบาลเกาหลีเซ็นเอ็มโอยูทำบิ๊กเดต้า หวังเร่งสร้างสภาพแวดล้อมรองรับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ผลิตนักวิทย์ฯข้อมูลและโครงการเร่งด่วนรองรับ เชื่อส่งผลก้าวกระโดดในวงการไอที

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 5, 2016 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมกับคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการเยือนประเทศเกาหลีใต้ในช่วงที่ผ่านมา EGA ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ ศูนย์คอมพิวเตอร์และบริการด้านข้อมูลข่าวสารแห่งชาติ ของเกาหลีใต้ หรือ National Computing and Information Service (NCIS) โดยได้ทำลงนามทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในหัวข้อ Big Data for e-Government หรือ การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับภาครัฐ โดยสัญญาจะผูกพันเป็นระยะเวลา 3 ปี สถานการณ์ปัจจุบันในด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ Big Data for e-Government ของไทยนั้นยังอยู่ในขั้นทดลอง ตั้งแต่การจัดโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เอื้อกับการคำนวณที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากพร้อมกัน และต้องแสดงผลแบบ real timeหรือเสมือนจริงได้ในทันที และยังต้องเชื่อมต่อข้อมูลทุกรูปแบบและหลากหลายหน่วยงานได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งโครงการแรกจะเป็นการใช้Big Data ในการรายงานการจราจรรวมถึงบทวิเคราะห์ในช่วงสงกรานต์นี้ ขณะเดียวกันปัญหาใหญ่ของการทำระบบ Big Data ในประเทศไทยอยู่ที่การบริหารจัดการ ความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างองค์กรที่เป็นศูนย์กลาง และการเร่งสร้าง Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลขึ้นมารองรับโดยเร่งด่วน ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐของเกาหลีใต้จะมีประสบการณ์ในการจัดการ Big Data มากกว่ารัฐบาลไทยอย่างมาก ดังนั้นการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกันครั้งนี้หน่วยงานรัฐบาลไทยจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สำหรับรายละเอียดข้อตกลงนั้น ทั้ง EGA และ NCIS จะร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อศึกษาและพัฒนา Big Data สำหรับหน่วยงานภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศขึ้น โดยรายงานจะมีการศึกษาเป็นลำดับชั้นแบบต่อเนื่อง นอกจากเป็นรายงานสถานการณ์ การแบ่งปันประสบการณ์ และการร่วมทำโครงการ Big Data ระหว่างกันขึ้นมา นอกจากนั้นทั้งสองหน่วยงานจะต้องจัดหาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Big Data เพื่อให้คำแนะนำในช่วงระหว่างการดำเนินโครงการ เท่ากับทั้งสองประเทศจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากหน่วยงานของตนเองและจากหน่วยงานสากลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้โครงการนี้จะนำชุดประสบการณ์จากทั่วโลกมากลั่นกรองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากที่ได้มีการศึกษาแนวทางการพัฒนา Big Data ของทั้งสองประเทศร่วมกันแล้ว จะต้องร่วมจัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ในการพัฒนาการจัดการ Big Data สำหรับภาครัฐร่วมกันอีกด้วย โดยกิจกรรมที่จัดจะต้องนำไปสู่โครงการพัฒนา Big Data ให้เติบโตและสำเร็จเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่มีแนวทางการศึกษาและกิจกรรมเผยแพร่เท่านั้น "ความร่วมมือของสองหน่วยงานจากไทยและเกาหลีใต้ครั้งนี้ จะทำให้ Big Data ของภาครัฐไทยก้าวกระโดดอย่างเป็นรูปธรรมแน่ เพราะเกาหลีใต้มีหลายโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้ว และ EGA ก็จะนำโครงการเหล่านั้นมาทดลองใช้กับประเทศไทย โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้หน่วยงานรัฐของไทยจะเข้ามาจัดการกับเทคโนโลยีใหม่เช่นนี้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด" ดร.ศักดิ์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ