ปภ. นำร่องซ้อมแผนอพยพชาวภูเก็ต จากพื้นที่เสี่ยงสึนามิ

ข่าวทั่วไป Monday April 25, 2005 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ปภ.
แต่ก่อนคนไทยอาจคิดว่า “การเกิดแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ สึนามิ” เป็นเรื่องไกลตัวจนเมื่อเช้า อาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้เกิดเหตุสึนามิ ซึ่งสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อ 6 จังหวัด ริมชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5,395 คนและสูญหายอีกกว่า 2,000 คน ประกอบกับ เมื่อกลางดึกวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2548 ได้เกิดแผ่นดินไหวด้านตะวันตก ของเกาะสุมาตรา ขนาด 8.7 ริคเตอร์ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนใน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย เร่งอพยพประชาชนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้ง
ทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้น ได้กระตุ้นเตือนให้คนไทยกลับมาสนใจและใส่ใจว่าเหตุแผ่นดินไหว และสึนามิ เป็นเรื่องใกล้ตัวรวมถึงหันมาทบทวนมาตรการและความจำเป็นในการวางแผนอพยพประชาชนจากพื้นที่ เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์สึนามิมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ครม. ได้มีมติให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนแม่บทการให้ความช่วยเหลือและอพยพราษฎรในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างเป็นระบบชัดเจน รวมถึงให้เผยแพร่ข่าวสาร และดำเนินการฝึกซ้อมแผนตามความเหมาะสม
ขณะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้บูรณาการความร่วมมือ กับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในการติดตั้งระบบเตือนภัย ใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแผนแม่บทการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ให้มีความเชื่อมโยงกัน พร้อมให้คำแนะนำแก่ 6 จังหวัดในการจัดทำแผนอพยพของจังหวัด และฝึกซ้อมแผนการอพยพฯ ให้มีความสอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยของพื้นที่ ซึ่งได้กำหนดให้ฝึกซ้อมแผนการอพยพฯ ที่หาดป่าตอง อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก ในวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2548 และฝึกซ้อมในอีก 5 จังหวัดที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2548 นี้
การฝึกซ้อมแผนอพยพครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะ
เจ้าภาพหลัก และ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จังหวัดภูเก็ต กระทรวงกลาโหม ตำรวจ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ และท้องถิ่น มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชน ผู้ประกอบการ ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว รวมกว่า 3,000 คน มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ได้ฝึกซ้อมการปฏิบัติตามแผนการอพยพที่กำหนดไว้อย่างเป็นระบบ รวมถึงเป็นการทดสอบความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์เตือนภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสิทธิภาพของแผนการอพยพที่ได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งจะช่วยป้องกันความสับสน อลหม่าน หากเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินขึ้นจริงในพื้นที่ พร้อมทั้งจะจัดให้มีการประเมินผล ระบบการแจ้งเตือนภัย ตั้งแต่ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย และการกระจายข่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมประมวล ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และข้อบกพร่องในระหว่างการฝึกซ้อมแผน ไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผนอพยพฯ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของ จ.ภูเก็ต มากยิ่งขึ้น รวมถึงใช้เป็นบทเรียนให้อีก 5 จังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการฝึกซ้อมแผนฯ ไปเติมเต็มช่องว่างที่จะเกิดขึ้นในการฝึกซ้อมแผนในครั้งต่อๆ ไป
ทั้งนี้ จะดำเนินการฝึกซ้อมแผนในรูปแบบการสร้างสถานการณ์สมมติการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งวัดแรงสั่นสะเทือนได้กว่า 9.0 ริคเตอร์ ซึ่งถือเป็นระดับที่ทำให้เกิดสึนามิ และจากนั้นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพอย่างเร่งด่วนภายใน 20 นาที ผ่านระบบสื่อสารทุกประเภท ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ เครือข่ายการสื่อสารทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิทยุสมัครเล่น หอกระจายข่าวชุมชน การส่งข้อความผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกระบบ โดยในการอพยพจะใช้เส้นทางอพยพหลักและสำรองไปอยู่ยังพื้นที่ปลอดภัยที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเกิน 15 เมตร โดยมีตัวแทนจากสถานทูตทั่วโลก เข้าร่วมรับชมการฝึกซ้อม และดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางไปยังทั่วโลกในลักษณะที่เป็น International Campaign เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศในมาตรการแจ้งเตือนภัย การเตรียมความพร้อมในการอพยพ และการอำนวยความปลอดภัยของประเทศไทย
กล่าวได้ว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิได้การฝึกซ้อม แผนอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัย จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดที่จะช่วยกระตุ้นเตือนให้หน่วยปฏิบัติ และชาวบ้านในพื้นที่ได้เกิดการเรียนรู้ และตระหนักว่าแผ่นดินไหว และสึนามิ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการอพยพหนีภัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ กรมป้องกันฯ จะฝึกซ้อมแผนการอพยพในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล ทั้งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะขยายขอบเขตการฝึกซ้อมไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยประเภทอื่นๆ เช่น อุทกภัย แผ่นดินถล่ม เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดการเรียนรู้ในระบบการแจ้งเตือนภัย และกระบวนการอพยพหนีภัย จนเกิดเป็นพฤติกรรมเคยชินในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ภายหลังการสังเกตเห็นความผิดปกติทางธรรมชาติที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะเกิดเหตุภัยพิบัติตามมา หรือได้ยินเสียงสัญญาณแจ้งเตือนภัยหรือประกาศเตือนจากเครือข่าย และระบบการสื่อสารของภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
เลขที่ 3/12 ถนนอู่ทองนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 www.disaster.go.th
สายด่วน 1784
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
โทร./โทรสาร. 0-2243-0674 e-mail : public@disaster.go.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ