สคร. 12 สงขลา แนะ ดื่ม–ขายสุราถูกกฎหมาย ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Monday April 11, 2016 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ย้ำเตือนประชาชน เมาไม่ขับ แนะผู้ประกอบการร้านค้าปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย ขายตามช่วงเวลาที่กำหนด ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นสูงมากกว่าช่วงปกติ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และประชาชนมักจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้มีผู้ใช้รถสัญจรไปมาบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เมาแล้วขับ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จากเทศกาลแห่งความสุขกลับกลายเป็นความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นจากการขาดสติสัมปชัญญะเพราะฤทธิ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ห้ามขาย ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัด สถานศึกษา สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้านค้าในสถานีน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีรถไฟและในขบวนรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ท่าเรือและบนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง ห้ามดื่มขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเวลาที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ คือ เวลา 11.00-14.00 น. และ17.00-24.00 น. หากมีการจำหน่ายนอกช่วงเวลา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนโดยมีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีอาการมึนเมาและคึกคะนอง โดยเฉพาะหากดื่มแล้วขับ จะทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง การตัดสินใจและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินจะช้าลงกว่าปกติ 8 เท่า สายตาพร่ามัว ทัศนวิสัยในการมองเห็นโดยเฉพาะในช่วงกลางคืนลดลง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ดังนั้นหากดื่มจนมีอาการเมา ห้ามขับรถด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด ควรจอดพักในบริเวณที่ปลอดภัยจนกว่าจะหายเมาแล้วค่อยขับรถ หรือใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่จะปลอดภัยกว่า หากไปด้วยกันหลายคน ควรให้ผู้ที่ไม่ดื่มขับรถแทน สำหรับ 5 กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย ได้แก่ ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ขับเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง สวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 0-2590-3032 และสามารถแจ้งเบาะแสหากพบผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการดื่มหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร 0-2590-3342

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ