บีโอไอ เผยภาวะการลงทุน 10 เดือนแรกทรงตัว อุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวทั้งการลงทุนและส่งออกกว่า 30%

ข่าวทั่วไป Friday November 23, 2001 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอเผยภาวะการลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2544 ยังทรงตัว ตัวเลขขอรับส่งเสริมช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2543 ถึง 44% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลการเกษตร มูลค่าลงทุนเพิ่มถึง 36% ขณะที่ส่งออกเพิ่ม 33%
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (22 พ.ย. 2544) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานว่า ภาวะการลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2544 ยังทรงตัว แต่จำนวนโครงการลงทุนในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2544 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2543 ขณะที่อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลการเกษตร และอุตสาหกรรมบริการแบะสาธารณูปโภคมีแนวโน้มดีขึ้น
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลการเกษตรของไทยหลายรายการไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกและการก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา ในทางตรงกันข้ามผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเกษตรบางรายการกลับมีกำลังการผลิตสูงขึ้น อาทิ ไก่สดแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย
ภาวะส่งเสริม-เกษตรเพิ่ม 38%
ส่วนภาพรวมในช่วง 10 เดือนแรกมีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 707 โครงการมูลค่าเงินลงทุน 150,800 ล้านบาท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้มีโครงการขอรับส่งเสริม 138 โครงการ มากกว่าปี 2543 อยู่ 1 โครงการ แต่มูลค่าเงินลงทุนในปี 2544 สูงถึง 30,600 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 36% ที่มีเงินลงทุน 22,500 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่เกี่ยวกับการประสานงานหรือทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนกิจการเดิมที่มีการประกอบการอยู่แล้ว อาทิ กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน หรือศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ โดยปีนี้มีจำนวนโครงการขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น 111 โครงการมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 30,300 ล้านบาท
ในส่วนของกำลังการผลิตช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ของปี 2544 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยไตรมาสที่ 3 มีกำลังการผลิตในอัตราร้อยละ 78 ในขณะที่ไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 มีกำลังการผลิตในอัตราร้อยละ 77 โดยมีอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ใช้กำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ไก่แช่เย็น, ถุงมือยาง, กระจกแผ่น, ปูนซีเมนต์, เครื่องสุขภัณฑ์, โทรทัศน์ และรถยนต์
อุตสาหกรรมเกษตรส่งออกเพิ่ม 33%
ส่วนภาวะการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกนั้น แม้ว่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศจะลดลงร้อยละ 4 แต่ในส่วนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมียอดการส่งออกลดลงร้อยละ 1.3 สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 3 ลดลงเพราะมีความต้องการใช้ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการลดการส่งออกบางส่วนลงเพื่อมาทดแทนตลาดในประเทศ
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2544 ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 อุตสาหกรรมเบาขึ้นร้อยละ 13 และอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15
นายจักรมณฑ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ภาวะการลงทุนและภาวะอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ทำให้มั่นใจว่าภาวะการลงทุนตลอดทั้งปี 2544 จะมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้นคือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น ไก่แช่แข็ง ถุงมือยาง กุ้งแช่แข็ง, อุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มทรงตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง เช่น เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องใช้เซรามิค--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ