นิด้าโพล : “การห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามทางแยก”

ข่าวทั่วไป Thursday April 14, 2016 22:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 เม.ย.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามทางแยก" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2559 กรณีศึกษาจากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้รถจักรยานยนต์ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามทางแยก และอุโมงค์ลอด รวม 45 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความ น่าจะเป็นแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่า ความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ของประชาชนเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทาง รวมทั้งรถจักรยานยนต์ของตนเองและรถจักรยานยนต์รับจ้าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.24 ระบุว่า ไม่ใช้เลย รองลงมา ร้อยละ 25.36 ระบุว่า ใช้เป็นบางครั้ง และร้อยละ 20.40 ระบุว่า ใช้เป็นประจำ ส่วนด้านความคิดเห็นของประชาชนเมื่อเห็นรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามทางแยกหรือท่านขี่เองหรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามทางแยก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.52 ระบุว่า กังวลว่าจะเกิดอุบัติเหตุ รองลงมา ร้อยละ 16.72 ระบุว่า รถจักรยานยนต์ควรจะได้รับอนุญาตให้ขี่ขึ้นสะพานข้ามทางแยกได้ ร้อยละ 11.28 ระบุว่า ตำรวจควรเคร่งครัดในการจับและปรับเพราะผิดกฎหมาย ร้อยละ 10.96 ระบุว่า เกะกะขวางทางรถยนต์ ร้อยละ 5.04 ระบุว่า ทำให้เกิดรถติด ร้อยละ 4.96 ระบุว่า รถจักรยานยนต์จะขึ้นสะพานข้ามทางแยกก็ได้แต่อย่ามาเกะกะขวางทางรถยนต์ ร้อยละ 1.92 ระบุว่า รถจักรยานยนต์จะขึ้นสะพานข้ามทางแยกก็ได้แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุอย่ามาเรียกร้อง ร้อยละ 2.56 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรให้ขึ้นบางสะพาน หรือเป็นช่วงเวลา ควรมีสะพานหรือช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ ควรมีป้ายบอกทางให้ชัดเจน การขึ้นสะพานช่วยให้สะดวก ประหยัดเวลา เพราะถนนบางช่วงมีเส้นทางที่อ้อมและรถติดมาก ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นพวกมักง่าย และร้อยละ 9.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรถจักรยานยนต์ว่าควรจะได้รับอนุญาตให้ขี่ขึ้นสะพานข้ามทางแยกได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.28 ระบุว่า ไม่ควรได้รับอนุญาต รองลงมา ร้อยละ 29.60 ระบุว่า ควรได้รับอนุญาตเฉพาะบางสะพาน ร้อยละ 22.64 ระบุว่า ควรได้รับอนุญาต ร้อยละ 2.40 ระบุว่า ควรอนุญาตเป็นบางกรณี เช่น ช่วงเวลารถติด หรือควรชิดซ้าย และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อผลลัพธ์ภายหลังจากมีคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาลในการห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามแยก – อุโมงค์ลอด 45 จุด ทั่วกรุงเทพฯ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.96 ระบุว่า ส่วนใหญ่จะไม่มีใครกลัวคำสั่งและยังคงขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามแยก – อุโมงค์ลอด เหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 17.60 ระบุว่า ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่จะสำรวจก่อนว่ามีตำรวจดักอยู่ข้างหน้าหรือไม่แล้วค่อยตัดสินใจ ร้อยละ 16.64 ระบุว่า เป็นคำสั่งแบบไฟไหม้ฟาง เดี๋ยวก็เลิกจับ ร้อยละ 16.16 ระบุว่า รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่จะไม่กล้าขึ้นสะพานข้ามแยก – อุโมงค์ลอด อีกต่อไป ร้อยละ 4.56 ระบุว่า ผู้ขี่รถจักรยานยนต์จะรวมตัวกันประท้วงและขอสิทธิที่เท่าเทียมกับรถยนต์ ร้อยละ 1.76 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีทั้งที่ทำตามและฝ่าฝืน โดยจะทำตามกฎในช่วงแรกเท่านั้น แต่ภายหลังก็จะกลับมาฝ่าฝืนเหมือนเดิม ซึ่งผู้ใช้รถจักรยานยนต์จะไม่ได้รับความสะดวกสบายอย่างเช่นเคย ขณะที่บางส่วนระบุว่า อุบัติเหตุน่าจะลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ใช้รถจักรยานยนต์เองแต่การจราจรด้านล่างใต้สะพานข้ามแยกจะติดขัดมากยิ่งขึ้น และร้อยละ 8.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.00 เป็นเพศชาย และร้อยละ 46.00 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 8.40 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 17.68 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.96 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.08 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 14.24 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 92.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.52 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.72 นับถือศาสนาคริสต์และอื่น ๆ และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.20 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.92 สมรสแล้ว ร้อยละ 1.84 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.72 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.04 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.72 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 11.92 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.96 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.92 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.00 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.36 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 12.64 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.92 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 14.72 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.68 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ